เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. อนุตตริยวรรค 6. มหากัจจานสูตร
6. มหากัจจานสูตร
ว่าด้วยพระมหากัจจานะ1
[26] ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหากัจจานะ เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ได้ตรัสรู้วิธี
บรรลุช่องว่างในที่คับแคบ2คืออนุสสติฏฐาน 6 ประการ เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์
ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะ(ความเศร้าโศก)และปริเทวะ(ความร่ำไร) เพื่อดับทุกข์
(ความทุกข์กาย)และโทมนัส(ความทุกข์ใจ) เพื่อบรรลุญายธรรม3 เพื่อทำให้แจ้ง
นิพพาน
อนุสสติฏฐาน 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ระลึกถึงพระตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ สมัยใด อริยสาวก
ระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะ
กลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไป
ตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด คำว่า
‘กำหนัด’ นี้ เป็นชื่อของกามคุณ 5 อริยสาวกนั้นแล มีจิตเสมอ
อากาศ อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียน4อยู่โดยประการทั้งปวง

เชิงอรรถ :
1 คัมภีร์บางแห่งใช้ว่า มหากัจจายนะ
2 ช่องว่างในที่คับแคบ หมายถึงทางหลุดพ้นจากกามคุณ 5 (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ทางหลุดพ้น
นั้นคืออนุสสติฏฐาน 6 ประการ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/26/110)
3 ญายธรรม หมายถึงอริยมัคคธรรม (สํ.ม. 19/24/15, สํ.ม.อ. 3/21-30/195)
4 จิตเสมออากาศ หมายถึงจิตที่ไม่ต้องเกี่ยวข้อง ไม่ต้องผูกพัน
ไพบูลย์ หมายถึงจิตไม่ใช่นิดหน่อย
มหัคคตะ หมายถึงจิตที่ยิ่งใหญ่ หรือเป็นจิตที่พระอริยสาวกจำนวนมากปฏิบัติมา
ไม่มีขอบเขต หมายถึงประมาณไม่ได้
ไม่มีเวร หมายถึงปราศจากอกุศลเวรและบุคคลผู้เป็นเวรกัน
ไม่มีความเบียดเบียน หมายถึงปราศจากความโกรธและความทุกข์ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/26/110)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :459 }