เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. สารณียวรรค 7. โสปปสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นเถระหรือหนอ
เธอทั้งหลายเป็นภิกษุใหม่นอนหลับกรนอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น เธอทั้งหลายเข้าใจ
เรื่องนั้นอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือเคยได้ยินบ้างไหมว่า ‘กษัตราธิราชได้รับ
มูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบความสุขในการบรรทม1 ความสุขในการเอกเขนก2
ความสุขในการหลับอยู่ตามพระประสงค์ ครองราชย์จนตลอดพระชนมชีพ ย่อมเป็น
ที่รัก เป็นที่พอใจของชาวชนบท”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น
ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘กษัตราธิราชได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบความสุขใน
การบรรทม ความสุขในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามพระประสงค์
ครองราชย์จนตลอดพระชนมชีพ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของชาวชนบท
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือ
เคยได้ยินมาบ้างไหมว่า “ท่านผู้ครองรัฐ ฯลฯ ท่านผู้เป็นทายาทของตระกูล ฯลฯ
ท่านผู้เป็นเสนาบดี ฯลฯ ท่านผู้ครองหมู่บ้าน ฯลฯ ท่านผู้เป็นหัวหน้าคณะ
ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตาม
ความประสงค์ ปกครองหมู่คณะจนตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น
ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘ท่านผู้เป็นหัวหน้าคณะประกอบความสุขในการนอน ความสุข
ในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามความประสงค์ ปกครองหมู่คณะจน
ตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ’

เชิงอรรถ :
1 ความสุขในการบรรทม หมายถึงความสุขที่เกิดจากการนอนบนพระแท่นบรรทม หรือการแปรพระราช
ฐานพักผ่อนตามฤดู (องฺ.ปญฺจ.อ. 3/206/86)
2 ความสุขในการเอกเขนก หมายถึงความสุขในการบรรทมพลิกกลับไปมา (องฺ.ปญฺจ.อ. 3/206/86)
3 โพธิปักขิยธรรม หมายถึงธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ มี 37 ประการ คือ (1) สติปัฏฐาน 4
(2) สัมมัปปธาน 4 (3) อิทธิบาท 4 (4) อินทรีย์ 5 (5) พละ 5 (6) โพชฌงค์ 7 (7) มรรคมีองค์ 8
ดู ขุ.ม. (แปล) 29/50/174, อภิ.วิ. (แปล) 35/522/392

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :440 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. สารณียวรรค 7. โสปปสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือ
เคยได้ยินมาบ้างไหมว่า สมณะหรือพราหมณ์ประกอบความสุขในการนอน ความสุข
ในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามความประสงค์ ไม่คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่หมั่นประกอบความเพียรเป็น
เครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หมั่นประกอบความเพียรในการ
เจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งราตรีแล้วทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น
ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ประกอบความสุขในการนอน ความสุข
ในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามความประสงค์ ไม่คุ้มครองทวารใน
อินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่หมั่นประกอบความเพียรเครื่อง
ตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญ
โพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งราตรี ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักคุ้มครอง
ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค จักเป็นผู้หมั่น
ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ จักเป็นผู้เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย จักเป็นผู้
หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่ง
ราตรีอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
โสปปสูตรที่ 7 จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :441 }