เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 1. อาหุเนยยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
แม้เราเองก็มีปัญญาเช่นนั้น’ มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึง
ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของตนและของเทวดาเหล่านั้น
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภเทวดา
ทั้งหลายดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนิน
ไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์
ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับสุข
เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ ตถาคตกล่าวว่า อริยสาวกนี้
เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาท
อยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญ
เทวตานุสสติอยู่
มหานามะ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผลแล้ว รู้ชัดศาสนาแล้ว ส่วนมากย่อมอยู่ด้วย
วิหารธรรมนี้
มหานามสูตรที่ 10 จบ
อาหุเนยยวรรคที่ 1 จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปฐมอาหุเนยยสูตร 2. ทุติยอาหุเนยยสูตร
3. อินทริยสูตร 4. พลสูตร
5. ปฐมอาชานียสูตร 6. ทุติยอาชานียสูตร
7. ตติยอาชานียสูตร 8. อนุตตริยสูตร
9. อนุสสติฏฐานสูตร 10. มหานามสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :425 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. สารณียวรรค 1. ปฐมสารณียสูตร
2. สารณียวรรค
หมวดว่าด้วยสารณียธรรม
1. ปฐมสารณียสูตร
ว่าด้วยสารณียธรรม สูตรที่1
[11] ภิกษุทั้งหลาย สารณียธรรม(ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน) 6 ประการนี้
สารณียธรรม 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. ตั้งมั่นเมตตากายกรรม1 ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้า
และลับหลัง แม้นี้ก็เป็นสารณียธรรม
2. ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง แม้นี้ก็เป็นสารณียธรรม
3. ตั้งมั่นเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง แม้นี้ก็เป็นสารณียธรรม
4. บริโภคโดยไม่แบ่งแยก2ลาภทั้งหลายที่ประกอบด้วยธรรม ได้มา
โดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต บริโภคร่วมกับเพื่อนพรหม-
จารีทั้งหลายผู้มีศีล แม้นี้ก็เป็นสารณียธรรม
5. มีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิเสมอกันกับเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้นี้ก็เป็นสารณียธรรม

เชิงอรรถ :
1 เมตตากายกรรม หมายถึงกายกรรมที่พึงทำด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา และเมตตาวจีกรรม เมตตามโน-
กรรมก็มีอรรถาธิบายเช่นเดียวกันนี้ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/11/97)
2 ไม่แบ่งแยก หมายถึงไม่แบ่งแยกอามิสโดยคิดว่า “จะให้เท่านี้ ๆ” และไม่แบ่งแยกบุคคลโดยคิดว่า
“จะให้แก่คนนั้น ไม่ให้แก่คนนี้” (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/11/99, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/11/111)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :426 }