เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 1. อาหุเนยยวรรค 10. มหานามสูตร
สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น
ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภตถาคตดำเนินไปตรง
ทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้
ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้
ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจ
มีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อม
ตั้งมั่น มหานามะ ตถาคตกล่าวว่า อริยสาวกนี้เป็นผู้ถึงความสงบ
อยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มี
พยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญพุทธานุสสติอยู่
2. อริยสาวกระลึกถึงธรรมว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล1
ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’
มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงธรรม สมัยนั้น จิตของ
อริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะ
กลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภธรรมดำเนินไป
ตรงทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้
ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้
ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจ
มีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อม
ตั้งมั่น มหานามะ ตถาคตกล่าวว่า อริยสาวกนี้เป็นผู้ถึงความสงบ
อยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มี
พยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญธัมมานุสสติอยู่
3. อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่

เชิงอรรถ :
1 ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส
บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. 2/54/158)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :422 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 1. อาหุเนยยวรรค 10. มหานามสูตร
อริยบุคคล 4 คู่คือ 8 บุคคล1 พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา
ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’ มหานามะ
สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น
ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภพระสงฆ์ดำเนินไปตรง
ทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้
ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้
ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจ
มีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อม
ตั้งมั่น มหานามะ ตถาคตกล่าวว่า อริยสาวกนี้เป็นผู้ถึงความสงบ
อยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มี
พยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญสังฆานุสสติอยู่
4. อริยสาวกระลึกถึงศีลของตน ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น
ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภศีลดำเนินไปตรงทีเดียว
มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความ
ปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้
ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจ
มีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อม
ตั้งมั่น มหานามะ ตถาคตกล่าวว่า อริยสาวกนี้เป็นผู้ถึงความสงบ
อยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มี
พยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญสีลานุสสติอยู่

เชิงอรรถ :
1 อริยบุคคล 4 คู่ คือ 8 บุคคล ได้แก่ (1) พระผู้บรรลุโสดาปัตติผล (2) พระผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรค
(3) พระผู้บรรลุสกทาคามิผล (4) พระผู้ดำรงอยู่ในสกทาคามิมรรค (5) พระผู้บรรลุอนาคามิผล
(6) พระผู้ดำรงอยู่ในอนาคามิมรรค (7) พระผู้บรรลุอรหัตตผล (8) พระผู้ดำรงอยู่ในอรหัตตมรรค
(อภิ.ปุ. (แปล) 36/207/229)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :423 }