เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 4. อาวาสิกวรรค 3. โสภณสูตร
5. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าอาวาสประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมเป็น
ที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ปิยสูตรที่ 2 จบ

3. โสภณสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้อาวาสงดงาม
[233] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าอาวาสประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ย่อม
ทำอาวาสให้งดงาม
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุเจ้าอาวาส
1. เป็นผู้มีศีล สำรวม ฯลฯ1 ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
2. เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
3. เป็นผู้มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะอันประกอบด้วยวาจาชาวเมือง
ที่สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้
4. เป็นผู้สามารถชี้แจงบุคคลผู้เข้าไปหาให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับ
เอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา
5. เป็นผู้ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าอาวาสประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมทำ
อาวาสให้งดงาม
โสภณสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 ฯลฯ ที่ปรากฏในข้อ 233-234 ดูความเต็มในข้อ 232

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :375 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 4. อาวาสิกวรรค 4. พหูปการสูตร
4. พหูปการสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้มีอุปการะมากแก่อาวาส
[234] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าอาวาสประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้
ย่อมเป็นผู้มีอุปการะมากแก่อาวาส
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุเจ้าอาวาส
1. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
2. เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
3. ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ปรักหักพัง
4. เมื่อภิกษุสงฆ์จำนวนมากเข้ามาถึง หรือภิกษุจากต่างแคว้นเข้ามาถึง
เธอเข้าไปบอก1พวกคฤหัสถ์ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์จำนวน
มากเข้ามาถึงแล้ว ภิกษุจากต่างแคว้นเข้ามาถึงแล้ว ขอเชิญพวก
ท่านทำบุญเถิด นี้เป็นกาลสมัยที่จะทำบุญ’
5. เป็นผู้ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าอาวาสประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมเป็น
ผู้มีอุปการะมากแก่อาวาส
พหูปการสูตรที่ 4 จบ

เชิงอรรถ :
1 บอก ในที่นี้หมายถึงบอกแก่คนในตระกูลที่ได้ปวารณาไว้ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/234/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :376 }