เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 3. ทีฆจาริกวรรค 3. อตินิวาสสูตร
3. อตินิวาสสูตร
ว่าด้วยการอยู่ประจำที่นาน
[223] ภิกษุทั้งหลาย การอยู่ประจำที่นาน มีโทษ 5 ประการนี้
โทษ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. มีสิ่งของมาก สะสมสิ่งของมาก
2. มีเภสัชมาก สะสมเภสัชมาก
3. มีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำมาก ยึดติดในการงานที่จะพึงทำ
4. อยู่คลุกคลีกับคฤหัสถ์และบรรพชิตด้วยการคลุกคลีอย่างคฤหัสถ์อัน
ไม่สมควร
5. เมื่อจากอาวาสนั้นไป ก็จากไปทั้งที่ยังมีความห่วงใย
ภิกษุทั้งหลาย การอยู่ประจำที่นาน มีโทษ 5 ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย การอยู่มีกำหนดพอดี มีอานิสงส์ 5 ประการนี้
อานิสงส์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ไม่มีสิ่งของมาก ไม่สะสมสิ่งของมาก
2. ไม่มีเภสัชมาก ไม่สะสมเภสัชมาก
3. ไม่มีกิจมาก ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำมาก ไม่ยึดติดในการงานที่จะ
พึงทำ
4. ไม่อยู่คลุกคลีกับคฤหัสถ์และบรรพชิตด้วยการคลุกคลีอย่างคฤหัสถ์
อันไม่สมควร
5. เมื่อจากอาวาสนั้นไป ก็จากไปโดยไม่มีความห่วงใย
ภิกษุทั้งหลาย การอยู่มีกำหนดพอดี มีอานิสงส์ 5 ประการนี้แล
อตินิวาสสูตรที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :365 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 3. ทีฆจาริกวรรค 4. มัจฉรีสูตร
4. มัจฉรีสูตร
ว่าด้วยความตระหนี่
[224] ภิกษุทั้งหลาย การอยู่ประจำที่นาน มีโทษ 5 ประการนี้
โทษ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เป็นผู้ตระหนี่อาวาส
2. เป็นผู้ตระหนี่ตระกูล
3. เป็นผู้ตระหนี่ลาภ
4. เป็นผู้ตระหนี่วรรณะ1
5. เป็นผู้ตระหนี่ธรรม2
ภิกษุทั้งหลาย การอยู่ประจำที่นาน มีโทษ 5 ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย การอยู่มีกำหนดพอดี มีอานิสงส์ 5 ประการนี้
อานิสงส์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เป็นผู้ไม่ตระหนี่อาวาส
2. เป็นผู้ไม่ตระหนี่ตระกูล
3. เป็นผู้ไม่ตระหนี่ลาภ
4. เป็นผู้ไม่ตระหนี่วรรณะ
5. เป็นผู้ไม่ตระหนี่ธรรม
ภิกษุทั้งหลาย การอยู่มีกำหนดพอดี มีอานิสงส์ 5 ประการนี้แล
มัจฉรีสูตรที่ 4 จบ

เชิงอรรถ :
1 ตระหนี่วรรณะ ในที่นี้หมายถึงตระหนี่คุณความดี (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/223-224/90)
2 ตระหนี่ธรรม ในที่นี้หมายถึงตระหนี่ปริยัติ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/223-224/90)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :366 }