เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 2. อักโกสกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
10. มธุราสูตร
ว่าด้วยนครมธุรา1
[220] ภิกษุทั้งหลาย นครมธุรา มีโทษ 5 ประการนี้
โทษ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. มีพื้นดินไม่ราบเรียบ
2. มีฝุ่นละอองมาก
3. มีสุนัขดุ
4. มียักษ์ร้าย
5. หาอาหารได้ยาก
ภิกษุทั้งหลาย นครมธุรา มีโทษ 5 ประการนี้แล
มธุราสูตรที่ 10 จบ
อักโกสกวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อักโกสกสูตร 2. ภัณฑนการกสูตร
3. สีลสูตร 4. พหุภาณิสูตร
5. ปฐมอักขันติสูตร 6. ทุติยอักขันติสูตร
7. ปฐมอปาสาทิกสูตร 8. ทุติยอปาสาทิกสูตร
9. อัคคิสูตร 10. มธุราสูตร


เชิงอรรถ :
1 นครมธุรา (Madhura) นี้เป็นเมืองหลวงของแคว้นสุรเสนะ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา มีกษัตริย์ปกครองพระ
นามว่า อวันตีบุตร บางทีเมืองนี้ เรียกอีกชื่อว่า อุตตรมธุรา (มธุราเหนือ) เพื่อให้ต่างจากเมืองมธุราตอน
ใต้ของอินเดียที่มีชื่อว่าทักขิณมธุรา เมืองอุตตรมธุรานี้ ปัจจุบันเรียกว่า มถุรา หรือมุตตระ ตั้งอยู่ตอน
เหนือห่างจากที่ตั้งเดิมระยะทาง 5 ไมล์ และที่ตั้งเดิมกลายเป็นเมืองใหม่ชื่อมโหลี (G.P. MALALASERA,
Dictionary of Pali Proper Names, London : Luzac Company Ltd, 46 Russell Street 1960.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :362 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 3. ทีฆจาริกวรรค 1. ปฐมทีฆจาริกสูตร
3. ทีฆจาริกวรรค
หมวดว่าด้วยการจาริกไปนาน
1. ปฐมทีฆจาริกสูตร
ว่าด้วยการจาริกไปนาน สูตรที่ 1
[221] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้จาริกไปนาน จาริกไป
ไม่มีกำหนด มีโทษ 5 ประการ
โทษ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ไม่ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
2. ไม่เข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว
3. ไม่แกล้วกล้าในเรื่องที่ได้ฟังแล้ว1
4. เป็นโรคร้ายแรง
5. เป็นผู้ไม่มีมิตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้จาริกไปนาน จาริกไปไม่มีกำหนด มีโทษ 5 ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย การจาริกไปมีกำหนดพอดี มีอานิสงส์ 5 ประการนี้
อานิสงส์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
2. เข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว
3. แกล้วกล้าในเรื่องที่ได้ฟังแล้ว
4. ไม่เป็นโรคร้ายแรง
5. เป็นผู้มีมิตร
ภิกษุทั้งหลาย การจาริกไปมีกำหนดพอดี มีอานิสงส์ 5 ประการนี้แล
ปฐมทีฆจาริกสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ไม่แกล้วกล้าในเรื่องที่ได้ฟังแล้ว หมายถึงไม่เกิดโสมนัสด้วยญาณที่มีอยู่ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/221/90)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :363 }