เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 1. กิมพิลวรรค 1. กิมพิลวรรค
5. ปัญจมปัณณาสก์
1. กิมพิลวรรค
หมวดว่าด้วยพระกิมพิละ
1. กิมพิลสูตร
ว่าด้วยท่านพระกิมพิละ
[201] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าไผ่ เขตเมืองกิมิลา ครั้งนั้น
ท่านพระกิมพิละได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็น
เหตุปัจจัยให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้
1. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา1
2. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม2
3. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์3
4. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา4
5. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน5

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงเมื่อขึ้นสู่ลานเจดีย์เป็นต้น ก็ไม่หุบร่ม ไม่ถอดรองเท้า และกล่าวคำหยาบเป็นต้น ซึ่งแสดงถึง
ความไม่เคารพ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/201/84)
2 หมายถึงนั่งหลับและคุยกันในขณะฟังธรรม (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/201/84)
3 หมายถึงอยู่ท่ามกลางสงฆ์ก็ไม่สำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย และไม่มีความเคารพในพระเถระ ได้แก่ พระผู้มี
ระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่นับว่าเป็นพระผู้ใหญ่ คือมีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ในพระมัชฌิมะ ได้แก่
พระระดับกลาง มีพรรษาตั้งแต่ครบ 5 แต่ยังไม่ถึง 10 ในพระนวกะ ได้แก่ พระใหม่มีระดับอายุ คุณธรรม
ความรู้ที่นับว่ายังใหม่ มีพรรษาต่ำกว่า 5 ที่ยังต้องถือนิสสัย) (วิ.อ. 1/45/253, องฺ.ปญฺจก.อ. 3/201/84)
4 หมายถึงไม่บำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ให้บริบูรณ์ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/201/84)
5 หมายถึงก่อการทะเลาะวิวาทกันเป็นต้น (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/201/84)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :343 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 1. กิมพิลวรรค 2. ธัมมัสสวนสูตร
กิมพิละ นี้แลเหตุปัจจัยให้สัทธรรมไม่ดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคต
ปรินิพพานแล้ว” พระกิมพิละทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุปัจจัย
ให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว” พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า “กิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใน
ธรรมวินัยนี้
1. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในศาสดา
2. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในธรรม
3. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในสงฆ์
4. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในสิกขา
5. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงกันและกัน
กิมพิละ นี้แลเป็นเหตุปัจจัยให้สัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคต
ปรินิพพานแล้ว”
กิมพิลสูตรที่ 1 จบ

2. ธัมมัสสวนสูตร
ว่าด้วยการฟังธรรม
[202] ภิกษุทั้งหลาย การฟังธรรมมีอานิสงส์ 5 ประการนี้
อานิสงส์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
2. เข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว
3. บรรเทาความสงสัยเสียได้
4. ทำความเห็นได้ตรง
5. จิตของผู้ฟังธรรมย่อมเลื่อมใส
ภิกษุทั้งหลาย การฟังธรรมมีอานิสงส์ 5 ประการนี้แล
ธัมมัสสวนสูตรที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :344 }