เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 5. พราหมณวรรค 9. กุลสูตร
9. กุลสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ตระกูลประสพบุญ
[199] ภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตผู้มีศีลทั้งหลาย เข้าไปยังตระกูลใด พวก
มนุษย์ในตระกูลนั้นย่อมประสพบุญเป็นอันมากโดยฐานะ 5 ประการ
ฐานะ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปยังตระกูล พวกมนุษย์เห็นแล้วมี
จิตเลื่อมใส สมัยนั้น ตระกูลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ให้เป็น
ไปเพื่อเกิดในสวรรค์
2. สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปยังตระกูล พวกมนุษย์ลุกรับ
อภิวาท ถวายอาสนะ สมัยนั้น ตระกูลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทา
ที่ยังสัตว์ให้เป็นไปเพื่อเกิดในตระกูลสูง
3. สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปยังตระกูล พวกมนุษย์กำจัดมลทิน
คือความตระหนี่ได้ สมัยนั้น ตระกูลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์
ให้เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่
4. สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปยังตระกูล พวกมนุษย์จัดของถวาย
ตามความสามารถ ตามกำลัง สมัยนั้น ตระกูลนั้นชื่อว่าปฏิบัติ
ปฏิปทาที่ยังสัตว์ให้เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีโภคทรัพย์มาก
5. สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปยังตระกูล พวกมนุษย์ไต่ถาม
สอบถามฟังธรรม สมัยนั้น ตระกูลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์
ให้เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก
ภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปยังตระกูลใด พวกมนุษย์ในตระกูลนั้น
ย่อมประสพบุญเป็นอันมากโดยฐานะ 5 ประการนี้แล
กุลสูตรที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :339 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 5. พราหมณวรรค 10. นิสสารณียสูตร
10. นิสสารณียสูตร
ว่าด้วยธาตุที่สลัด
[200] ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ1ที่สลัด 5 ประการนี้
ธาตุที่สลัด 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อมนสิการกามทั้งหลาย2 จิตของเธอย่อมไม่
แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไปในกามทั้งหลาย แต่เมื่อเธอ
มนสิการเนกขัมมะ3 จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ น้อมไป
ในเนกขัมมะ จิต4นั้นของเธอชื่อว่าเป็นจิตดำเนินไปดีแล้ว เจริญดี
แล้ว ตั้งอยู่ดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว พรากออกดีแล้วจากกามทั้งหลาย
เธอหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ5 และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น6
ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกามเป็นปัจจัย เธอย่อมไม่เสวยเวทนานั้น นี้เรา
กล่าวว่าธาตุที่สลัดกามทั้งหลาย
2. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อมนสิการพยาบาท จิตของเธอย่อมไม่
แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไปในพยาบาท แต่เมื่อเธอ
มนสิการความไม่พยาบาท จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่
น้อมไปในความไม่พยาบาท จิตนั้นของเธอชื่อว่าเป็นจิตดำเนินไปดี

เชิงอรรถ :
1 ธาตุ หมายถึงสภาวะที่ว่างจากอัตตา (อัตตสุญญสภาวะ) (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/200/82) หรือสภาวะที่
ปราศจากชีวะ ในที่นี้หมายถึงธัมมธาตุและมโนวิญญาณธาตุขั้นพิเศษ (องฺ.ปญฺจก.ฏีกา 3/200/91)
2 มนสิการถึงกามทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงเมื่อออกจากอสุภฌาน(เพ่งความไม่งาม)แล้วส่งจิตคิดถึงกามคุณ
เพื่อตรวจดูจิตว่า ‘บัดนี้ จิตเราแน่วแน่ต่อเนกขัมมะหรือไม่ กามวิตกยังเกิดขึ้นอยู่หรือไม่’ เหมือนคนจับงู
พิษเพื่อทดลองดูว่างูมีพิษหรือไม่ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/200/82, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา 3/200/91)
3 เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงปฐมฌานในอสุภะทั้งหลาย (องฺ.ปญฺจ.อ. 3/200/82)
4 จิต ในทีนี้หมายถึงอสุภฌานจิต (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/200/82)
5 อาสวะ ในที่นี้หมายถึงอาสวะ 4 คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ ทิฏฐาสวะ อาสวะ
คือทิฏฐิ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา (สํ.สฬา.อ. 3/53-62/14, องฺ.ฉกฺก.อ. 3/58/140, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
3/58/154-162)
6 ความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น หมายถึงความเร่าร้อนเพราะกิเลสหรือความเร่าร้อนเพราะวิบากกรรมที่
ก่อความคับแค้นใจ หรือให้เกิดทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจอันเป็นผลมาจากอาสวะ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/58/140,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/58/154)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :340 }