เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 5. พราหมณวรรค 5. ปิงคิยานีสูตร
5. ปิงคิยานีสูตร
ว่าด้วยปิงคิยานีพราหมณ์
[195] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ 500 คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เจ้าลิจฉวีบางพวกมีตัวเขียว1 มีฉวีวรรณเขียว มีผ้าเขียว มีเครื่องประดับเขียว2
บางพวกมีตัวเหลือง มีฉวีวรรณเหลือง มีผ้าเหลือง มีเครื่องประดับเหลือง บางพวก
มีตัวแดง มีฉวีวรรณแดง มีผ้าแดง มีเครื่องประดับแดง บางพวกมีตัวขาว มีฉวีวรรณ
ขาว มีผ้าขาว มีเครื่องประดับขาว พระผู้มีพระภาคทรงรุ่งเรืองกว่าเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น
โดยพระฉวีวรรณและพระยศ
ครั้งนั้น ปิงคิยานีพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประคอง
อัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เนื้อความแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต
เนื้อความแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปิงคิยานี เนื้อความจงแจ่มแจ้งแก่เธอเถิด”
ลำดับนั้น ปิงคิยานีพราหมณ์ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคต่อพระพักตร์ด้วย
คาถาโดยย่อว่า
“เชิญท่านดูพระอังคีรส3ผู้ทรงรุ่งโรจน์อยู่
เหมือนดอกบัวชื่อโกกนุท มีกลิ่นหอม

เชิงอรรถ :
1 มีตัวเขียว หมายถึงเขียวเพราะการลูบไล้ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/195/77)
2 มีเครื่องประดับเขียว หมายถึงประดับด้วยแก้วสีเขียวและดอกไม้สีเขียว แม้เครื่องประดับช้าง เครื่องประดับ
ม้า เครื่องประดับรถ ผ้าม่าน เพดาน และเกราะของเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นก็เป็นสีเขียวทั้งหมด(องฺ.ปญฺจก.อ.
3/195/77)
3 พระอังคีรส หมายถึงพระรัศมีทั้งหลายที่เปล่งออกจากพระวรกายของพระผู้มีพระภาค (องฺ.ปญฺจก.อ
3/195/78)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :333 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 5. พราหมณวรรค 5. ปิงคิยานีสูตร
ไม่ปราศจากกลิ่น บานอยู่ในเวลาเช้า
และเหมือนพระอาทิตย์เปล่งรัศมีอยู่บนท้องฟ้า ฉะนั้น”
ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้ให้ปิงคิยานีพราหมณ์ห่มผ้าอุตตราสงค์ 500 ผืน
ปิงคิยานีได้ทูลถวายให้พระผู้มีพระภาคครองผ้าอุตตราสงค์ 500 ผืนเหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสกับเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า
“เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ความปรากฏแห่งแก้ว 5 ประการ หาได้ยากในโลก
ความปรากฏแห่งแก้ว 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความปรากฏแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หาได้ยากในโลก
2. บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ หาได้ยากในโลก
3. บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ซึ่งผู้อื่นแสดงแล้ว หาได้
ยากในโลก
4. บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ ซึ่งผู้อื่นแสดงแล้ว เป็น
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หาได้ยากในโลก
5. กตัญญูกตเวทีบุคคล1 หาได้ยากในโลก
เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ความปรากฏแห่งแก้ว 5 ประการนี้แล หาได้ยากในโลก”
ปิงคิยานีสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 143 (สารันททสูตร) หน้า 239 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :334 }