เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 5. พราหมณวรรค 3. สังคารวสูตร
สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ไม่ถูก
อุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่
สลัดอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมา
เป็นเวลานานก็แจ่มแจ้งได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่สาธยายเลย
ฉันนั้นเหมือนกัน
5. สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ไม่ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่
และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ
มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมาเป็นเวลานาน ก็แจ่มแจ้งได้ ไม่จำเป็นต้องพูด
ถึงมนตร์ที่สาธยายเลย
เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็มด้วยน้ำใส ไม่ขุ่นมัว ที่เขาวางไว้ใน
ที่แจ้ง คนผู้มีตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น
พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริง แม้ฉันใด
สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ไม่ถูกวิจิกิจฉา
ครอบงำอยู่ และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดวิจิกิจฉาที่เกิด
ขึ้นแล้ว ฯลฯ มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมาเป็นเวลานาน ก็แจ่มแจ้งได้
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่สาธยายเลย ฉันนั้น เหมือนกัน
พราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุปัจจัยให้มนตร์แม้ที่สาธยายมาเป็นเวลานาน ก็ไม่แจ่ม
แจ้งได้ในกาลบางคราว ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่ไม่ได้สาธยายเลย และนี้แลเป็น
เหตุปัจจัยให้มนตร์แม้ที่ไม่ได้สาธยายมาเป็นเวลานาน ก็แจ่มแจ้งได้ในกาลบางคราว
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่ได้สาธยายเลย
สังคารวพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดม
ชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตเถิด”
สังคารวสูตรที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :329 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 5. พราหมณวรรค 4. การณปาลีสูตร
4. การณปาลีบุตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อการณปาลี
[194] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้น การณปาลีพราหมณ์ใช้คนให้ทำการงาน1ของเจ้าลิจฉวีอยู่
ได้เห็นปิงคิยานีพราหมณ์2เดินมาแต่ไกล จึงถามว่า “ท่านปิงคิยานีพราหมณ์มา
จากไหนแต่ยังวัน3”
ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า “ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระสมณโคดม”
การณปาลีพราหมณ์ถามว่า “ท่านปิงคิยานีเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ เข้าใจ
ความแจ่มชัดแห่งปัญญาของพระสมณโคดมว่า ‘เป็นบัณฑิต’ ได้หรือไม่”
ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นใคร จักรู้ความแจ่มชัด
แห่งปัญญาของพระสมณโคดมเพราะเหตุไร ผู้ที่เป็นเช่นเดียวกับพระสมณโคดม
เท่านั้นจึงจะรู้ความแจ่มชัดแห่งปัญญาของพระสมณโคดม”
การณปาลีกล่าวว่า “ท่านปิงคิยานีช่างสรรเสริญพระสมณโคดมยิ่งนัก”
ปิงคิยานีพราหมณ์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นใคร และจักสรรเสริญพระสมณโคดม
เพราะหตุไร และท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้นเป็นผู้อันชาวโลกสรรเสริญ เป็นผู้
ประเสริฐที่สุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
การณปาลีพราหมณ์ถามว่า “ท่านปิงคิยานีเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึง
เลื่อมใสยิ่งนักในพระสมณโคดมอย่างนี้”

เชิงอรรถ :
1 ให้ทำการงาน หมายถึงให้สร้างประตู ป้อม และกำแพงที่ยังไม่ได้สร้าง และหมายถึงให้ซ่อมแซมประตู ป้อม
และกำแพงที่เก่าคร่ำคร่า (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/194/75)
2 ปิงคิยานีพราหมณ์ คือพราหมณ์ผู้เป็นอริยสาวก ผู้บรรลุอนาคามิผล เล่ากันว่า พราหมณ์ผู้นี้ทำกิจวัตร
ประจำวันโดยการนำของหอม ระเบียบ ดอกไม้ไปบูชาพระศาสดาเป็นประจำ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/194/75)
3 แต่ยังวัน (ทิวา ทิวสฺส) หมายถึงในเวลาเที่ยงวัน (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/194/75)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :330 }