เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 5. พราหมณวรรค 3. สังคารวสูตร
เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็มด้วยน้ำ ไม่ร้อนเพราะไฟ ไม่เดือด
พล่าน ไม่เป็นไอ คนผู้มีตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะที่เต็ม
ด้วยน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริง แม้ฉันใด
สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกพยาบาทกลุ้มรุม ไม่ถูกพยาบาท
ครอบงำอยู่ และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดพยาบาทที่เกิด
ขึ้นแล้ว ฯลฯ มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมาเป็นเวลานานก็แจ่มแจ้งได้
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่สาธยายเลย ฉันนั้น เหมือนกัน
3. สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม ไม่ถูกถีนมิทธะครอบงำ
อยู่ และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว
ฯลฯ มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมาเป็นเวลานานก็แจ่มแจ้งได้ ไม่จำเป็น
ต้องพูดถึงมนตร์ที่สาธยายเลย
เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็มด้วยน้ำ ไม่ถูกสาหร่ายและแหน
ปกคลุมแล้ว คนผู้มีตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะที่เต็มด้วย
น้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริง แม้ฉันใด
สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม ไม่ถูกถีนมิทธะ
ครอบงำอยู่ และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดถีนมิทธะ
ที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมาเป็นเวลานาน
ก็แจ่มแจ้งได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่สาธยายเลย ฉันนั้น
เหมือนกัน
4. สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ไม่ถูกอุทธัจจ-
กุกกุจจะครอบงำอยู่ และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัด
อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมาเป็น
เวลานานก็แจ่มแจ้งได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่สาธยายเลย
เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็มด้วยน้ำ ไม่ถูกลมพัด ก็ไม่ไหว
ไม่วน ไม่เป็นคลื่น คนผู้มีตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะที่
เต็มด้วยน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริง แม้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :328 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 5. พราหมณวรรค 3. สังคารวสูตร
สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ไม่ถูก
อุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่
สลัดอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมา
เป็นเวลานานก็แจ่มแจ้งได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่สาธยายเลย
ฉันนั้นเหมือนกัน
5. สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ไม่ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่
และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ
มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมาเป็นเวลานาน ก็แจ่มแจ้งได้ ไม่จำเป็นต้องพูด
ถึงมนตร์ที่สาธยายเลย
เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็มด้วยน้ำใส ไม่ขุ่นมัว ที่เขาวางไว้ใน
ที่แจ้ง คนผู้มีตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น
พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริง แม้ฉันใด
สมัยใด บุคคลมีจิตไม่ถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ไม่ถูกวิจิกิจฉา
ครอบงำอยู่ และรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งธรรมที่สลัดวิจิกิจฉาที่เกิด
ขึ้นแล้ว ฯลฯ มนตร์แม้ที่ไม่สาธยายมาเป็นเวลานาน ก็แจ่มแจ้งได้
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่สาธยายเลย ฉันนั้น เหมือนกัน
พราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุปัจจัยให้มนตร์แม้ที่สาธยายมาเป็นเวลานาน ก็ไม่แจ่ม
แจ้งได้ในกาลบางคราว ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่ไม่ได้สาธยายเลย และนี้แลเป็น
เหตุปัจจัยให้มนตร์แม้ที่ไม่ได้สาธยายมาเป็นเวลานาน ก็แจ่มแจ้งได้ในกาลบางคราว
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงมนตร์ที่ได้สาธยายเลย
สังคารวพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดม
ชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตเถิด”
สังคารวสูตรที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :329 }