เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 3. อุปาสกวรรค 4. เวรสูตร
4. เวรสูตร
ว่าด้วยภัยเวร
[174] ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า
คหบดี อุบาสกละภัย1เวร2 5 ประการไม่ได้ เราเรียกว่า ‘ผู้ทุศีล’ และเขาย่อม
ไปเกิดในนรก
ภัยเวร 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. การฆ่าสัตว์
2. การลักทรัพย์
3. การประพฤติผิดในกาม
4. การพูดเท็จ
5. การเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
คหบดี อุบาสกละภัยเวร 5 ประการนี้แลไม่ได้ เราเรียกว่า ‘ผู้ทุศีล’ และเขา
ย่อมไปเกิดในนรก
อุบาสกละภัยเวร 5 ประการได้แล้ว เราเรียกว่า ‘ผู้มีศีล’ และเขาย่อมไปเกิด
ในสุคติ
ภัยเวร 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. การฆ่าสัตว์
2. การลักทรัพย์
3. การประพฤติผิดในกาม
4. การพูดเท็จ
5. การเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท

เชิงอรรถ :
1 ภัย หมายถึงสิ่งที่ทำให้จิตสะดุ้ง (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/174/67)
2 เวร หมายถึงอกุศลกรรม และบุคคลผู้ก่อเวร (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/174/67)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :290 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 3. อุปาสกวรรค 4. เวรสูตร
คหบดี อุบาสกละภัยเวร 5 ประการนี้แลได้แล้ว เราเรียกว่า ‘ผู้มีศีล’ และเขา
ย่อมไปเกิดในสุคติ
คหบดี อุบาสกผู้ฆ่าสัตว์ย่อมประสพภัยเวรใดทั้งในภพนี้และภพหน้า เสวย
ทุกขโทมนัส1ทางใจใดเพราะมีการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย อุบาสกผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
ย่อมไม่ประสพภัยเวรนั้นทั้งในภพนี้และภพหน้า ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัสทางใจนั้น
ภัยเวรนั้นของอุบาสกผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ย่อมสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้
อุบาสกผู้ลักทรัพย์ ฯลฯ
อุบาสกผู้ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ
อุบาสกผู้พูดเท็จ ฯลฯ
อุบาสกผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ย่อม
ประสพภัยเวรใดทั้งในภพนี้และภพหน้า เสวยทุกขโทมนัสทางใจใดเพราะมีการ
เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทเป็นปัจจัย อุบาสกผู้
เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ย่อม
ไม่ประสพภัยเวรนั้นทั้งในภพนี้และภพหน้า ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัสที่เป็นไป
ทางใจนั้น ภัยเวรนั้นของอุบาสกผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุแห่งความประมาท ย่อมสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้
นรชนใดในโลกฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
คบชู้กับภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ
และหมกมุ่นในการดื่มสุราและเมรัย2
นรชนนั้นละเวร 5 ประการไม่ได้
เราเรียกว่า ‘ผู้ทุศีล’
เขาผู้มีปัญญาทราม ตายไปแล้วย่อมไปเกิดในนรก

เชิงอรรถ :
1 ทุกข์ คือทุกข์ที่มีกายประสาทเป็นที่ตั้ง หมายถึงความไม่สบายกายหรือทุกข์ทางกาย
โทมนัส คือ โทมนัสเวทนา หมายถึงความไม่สบายใจหรือทุกข์ใจ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/174/67)
2 ดู ขุ.ธ. 25/246/59

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :291 }