เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. อาฆาตวรรค 6. นิโรธสูตร
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปหาท่าน
พระอุปวานะถึงที่อยู่แล้วกล่าวดังนี้ว่า “ท่านอุปวานะ ภิกษุเหล่าอื่นในศาสนานี้
เบียดเบียนพระเถระ พวกเราจะไม่ถามหาภิกษุเหล่านั้น การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จ
ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น จะปรารภเหตุนั้นนั่นแลแล้วยกขึ้นแสดงเหมือนที่จะ
พึงตรัสกับท่านอุปวานะโดยเฉพาะในเหตุนั้น นั้นไม่น่าอัศจรรย์ บัดนี้ ความน้อยใจ
ได้เกิดขึ้นแก่พวกเรา”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็นแล้วเสด็จเข้าไป
ประทับนั่งที่อุปัฏฐานศาลา ได้ตรัสถามท่านอุปวานะว่า
“อุปวานะ ภิกษุเถระประกอบด้วยธรรมเท่าไรจึงเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่
เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย”
ท่านอุปวานะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเถระประกอบด้วย
ธรรม 5 ประการ จึงเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของ
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุเถระในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
2. เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
3. มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่
สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้
4. เป็นผู้ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่ง1 ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
5. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ2อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 104 (สมณสุขุมาลสูตร) หน้า 181 ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 2,3 ข้อ 25 (อนุคคหิตสูตร) หน้า 31 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :276 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. อาฆาตวรรค 7. โจทนาสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมเป็น
ที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อุปวานะ ภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม 5
ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลาย หากภิกษุเถระไม่มีธรรม 5 ประการนี้ เพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายจะสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอเพราะความเป็นผู้มีฟันหัก มีผมหงอก
มีหนังย่น เพื่ออะไร แต่เพราะภิกษุเถระมีธรรม 5 ประการนี้ เพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายจึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ”
นิโรธสูตรที่ 6 จบ

7. โจทนาสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้เป็นโจทก์1
[167] ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งมั่นธรรม 5 ประการไว้ในตน
แล้วจึงโจทผู้อื่น
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เราจักกล่าวในกาลอันควร จักไม่กล่าวในกาลอันไม่ควร
2. เราจักกล่าวถ้อยคำจริง จักไม่กล่าวถ้อยคำไม่จริง
3. เราจักกล่าวถ้อยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวถ้อยคำหยาบ
4. เราจักกล่าวถ้อยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวถ้อยคำ
อันไม่ประกอบด้วยประโยชน์
5. เราจักมีเมตตาจิตกล่าว จักไม่เพ่งโทษกล่าว

เชิงอรรถ :
1 ผู้เป็นโจทก์ ในที่นี้หมายถึงผู้โจทก์ด้วยเรื่องสำหรับโจท 4 อย่าง คือ (1) วัตถุสันทัสสนา แสดงเรื่องที่ต้องอาบัติ
(2) อาปัตติสันทัสสนา แสดงอาบัติที่ล่วงละเมิด (3) สังวาสัปปฏิกเขปะ ห้ามสังวาสคือไม่ร่วมสังฆกรรม
มีอุโบสถกรรมและปวารณากรรมเป็นต้น (4) สามีจิปฏิกเขปะ ไม่ทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้น
(องฺ.ปญฺจก.อ. 3/167/65, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา 3/167-9-6/64)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :277 }