เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์]
3. ปัญจังคิกวรรค 3. อุปกิเลสสูตร

3. อุปกิเลสสูตร
ว่าด้วยความเศร้าหมอง

[23] ภิกษุทั้งหลาย สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง 5 ประการ เป็นเหตุให้ทอง
เศร้าหมอง ไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่ผุดผ่อง แตกง่าย ใช้งานไม่ได้ดี
สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง 5 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. เหล็ก 2. โลหะ
3. ดีบุก 4. ตะกั่ว
5. เงิน

ภิกษุทั้งหลาย สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง 5 ประการนี้แล เป็นเหตุให้ทอง
เศร้าหมอง ไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่ผุดผ่อง แตกง่าย ใช้งานไม่ได้ดี
แต่เมื่อใด ทองพ้นจากสิ่งเศร้าหมอง 5 ประการนี้แล้ว เมื่อนั้น ทองนั้น
ย่อมอ่อน ใช้การได้ ผุดผ่อง ไม่แตกง่าย ใช้งานได้ดี และช่างทองมุ่งหมายจะทำ
เครื่องประดับชนิดใด ๆ คือ แหวน ต่างหู สร้อยคอ หรือมาลัยทอง เครื่องประดับ
ชนิดนั้นย่อมอำนวยประโยชน์ให้เขาได้ ฉันใด
ความเศร้าหมองแห่งจิต 5 ประการ เป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง ไม่อ่อน
ไม่เหมาะแก่การใช้งาน ไม่ผุดผ่อง ฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งมั่นดีเพื่อความสิ้นอาสวะ ฉันนั้น
เหมือนกัน
ความเศร้าหมองแห่งจิต 5 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
2. พยาบาท (ความคิดร้าย)
3. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)
4. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
5. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)

ความเศร้าหมองแห่งจิต 5 ประการนี้แล เป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง ไม่อ่อน
ไม่เหมาะแก่การใช้งาน ไม่ผุดผ่อง ฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งมั่นดีเพื่อความสิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :27 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์]
3. ปัญจังคิกวรรค 3. อุปกิเลสสูตร

แต่เมื่อใด จิตพ้นจากความเศร้าหมอง 5 ประการนี้แล้ว เมื่อนั้น จิตนั้น
ย่อมอ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ผุดผ่อง ไม่ฟุ้งซ่าน ตั้งมั่นดีเพื่อความสิ้นอาสวะ
และภิกษุจะน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วย
ปัญญาอันยิ่งใด ๆ เมื่อมีเหตุ1 เธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดใน
ธรรมนั้น ๆ
ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า ‘เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็น
หลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏ หรือให้หายไปก็ได้
ทะลุฝา กำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงใน
แผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้
นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ และ
ดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลก
ก็ได้’ เมื่อมีเหตุ เธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษชัดในธรรมนั้น ๆ
ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า ‘เราพึงได้ยินเสียง 2 ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์’ เมื่อมีเหตุ เธอย่อม
บรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ
ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า ‘เราพึงกำหนดรู้จิตของสัตว์และบุคคลอื่นได้ด้วยจิตของตน
คือ จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะ
ก็รู้ว่ามีโทสะ หรือปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือ
ปราศจากโมหะก็รู้ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหัคคตะ2ก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ