เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 1. สัทธัมมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
10. ทุปปฏิวิโนทยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่บรรเทาได้ยาก
[160] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้ ที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ราคะที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
2. โทสะที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
3. โมหะที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
4. ปฏิภาณ1ที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
5. จิตคิดจะไปที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้แล ที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
ทุปปฏิวิโนทยสูตรที่ 10 จบ
สัทธัมมวรรคที่ 1 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปฐมสัมมัตตนิยามสูตร 2. ทุติยสัมมัตตนิยามสูตร
3. ตติยสัมมัตตนิยามสูตร 4. ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร
5. ทุติยสัทธัมมสัมโมสสูตร 6. ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร
7. ทุกกถาสูตร 8. สารัชชสูตร
9. อุทายีสูตร 10. ทุปปฏิวิโนทยสูตร


เชิงอรรถ :
1 ปฏิภาณ ในที่นี้หมายถึงความมุ่งหวังที่จะพูด (กเถตุกามตา) (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/160/60)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :264 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. อาฆาตวรรค 1. ปฐมอาฆาตปฏิวินยสูตร
2. อาฆาตวรรค
หมวดว่าด้วยอาฆาต1
1. ปฐมอาฆาตปฏิวินยสูตร
ว่าด้วยอุบายกำจัดอาฆาต สูตรที่ 1
[161] ภิกษุทั้งหลาย อุบายกำจัดอาฆาต 5 ประการนี้ เป็นเครื่องกำจัด
อาฆาตที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุได้อย่างสิ้นเชิง
อุบายกำจัดอาฆาต 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุพึงเจริญเมตตาในบุคคลผู้ที่ตนเกิดอาฆาต2 ภิกษุพึงกำจัดอาฆาต
ในบุคคลนั้นอย่างนี้
2. ภิกษุพึงเจริญกรุณาในบุคคลผู้ที่ตนเกิดอาฆาต ภิกษุพึงกำจัดอาฆาต
ในบุคคลนั้นอย่างนี้
3. ภิกษุพึงเจริญอุเบกขาในบุคคลผู้ที่ตนเกิดอาฆาต ภิกษุพึงกำจัดอาฆาต
ในบุคคลนั้นอย่างนี้
4. ภิกษุไม่พึงระลึกถึง ไม่พึงมนสิการถึงบุคคลผู้ที่ตนเกิดอาฆาต ภิกษุ
พึงกำจัดอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้
5. ภิกษุพึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนให้มั่นในบุคคลผู้ที่ตน
เกิดอาฆาตนั้น ดังนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับ
ผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม

เชิงอรรถ :
1 อาฆาต หมายถึงความโกรธเคือง (องฺ.นวก.อ. 3/29/307)
2 เมตตาและกรุณา ต้องเจริญด้วยฌานที่ 3 และฌานที่ 4 ส่วนอุเบกขา ต้องเจริญด้วยฌานที่ 4 และฌานที่ 5
(องฺ.ปญฺจก.อ. 3/161/61)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :265 }