เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 1. สัทธัมมวรรค 9. อุทายีสูตร
9. อุทายีสูตร
ว่าด้วยพระอุทายี
[159] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
สมัยนั้นแล ท่านพระอุทายีมีคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมนั่งแสดงธรรมอยู่ ท่าน
พระอานนท์ได้เห็นท่านพระอุทายีมีคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมนั่งแสดงธรรมอยู่
จึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร1
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอุทายีมีคฤหัสถ์
บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมนั่งแสดงธรรมอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นมิใช่ทำได้ง่าย ภิกษุ
เมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม 5 ประการไว้ในตนแล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุพึงตั้งใจว่า
1. เราจักแสดงธรรมไปตามลำดับ2
2. เราจักแสดงอ้างเหตุ
3. เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู3
4. เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิส4แสดงธรรม
5. เราจักไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น5
อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่
คนอื่น พึงตั้งธรรม 5 ประการนี้ไว้ในตนแล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
อุทายีสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 31 (สุมนสูตร) หน้า 45 ในเล่มนี้
2 แสดงธรรมไปตามลำดับ หมายถึงแสดงธรรมให้มีลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ เช่น แสดงเรื่องทานเป็น
ลำดับที่ 1 แสดงเรื่องศีลเป็นลำดับที่ 2 แสดงเรื่องสวรรค์เป็นลำดับที่ 3
อีกนัยหนึ่ง หมายถึงแสดงธรรมให้ครอบคลุมเนื้อหาสาระตามที่ตั้งสุตตบท หรือคาถาบทไว้ (องฺ.ปญฺจก.อ.
3/159/60)
3 อาศัยความเอ็นดู หมายถึงการอนุเคราะห์ด้วยคิดว่า “จักเปลื้องเหล่าสัตว์ผู้มีความคับแค้นมากให้พ้น
จากความคับแค้น” (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/159/60)
4 ไม่เพ่งอามิส หมายถึงไม่มุ่งหวังลาภคือปัจจัย 4 เพื่อตน (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/159/60)
5 ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น หมายถึงไม่แสดงธรรมยกตนข่มท่าน (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/159/60)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :263 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 1. สัทธัมมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
10. ทุปปฏิวิโนทยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่บรรเทาได้ยาก
[160] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้ ที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ราคะที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
2. โทสะที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
3. โมหะที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
4. ปฏิภาณ1ที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
5. จิตคิดจะไปที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้แล ที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
ทุปปฏิวิโนทยสูตรที่ 10 จบ
สัทธัมมวรรคที่ 1 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปฐมสัมมัตตนิยามสูตร 2. ทุติยสัมมัตตนิยามสูตร
3. ตติยสัมมัตตนิยามสูตร 4. ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร
5. ทุติยสัทธัมมสัมโมสสูตร 6. ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร
7. ทุกกถาสูตร 8. สารัชชสูตร
9. อุทายีสูตร 10. ทุปปฏิวิโนทยสูตร


เชิงอรรถ :
1 ปฏิภาณ ในที่นี้หมายถึงความมุ่งหวังที่จะพูด (กเถตุกามตา) (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/160/60)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :264 }