เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์]
3. ปัญจังคิกวรรค 2. ทุติยอคารวสูตร

2. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว
จักบำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์ได้
3. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
สีลขันธ์ให้บริบูรณ์ได้
4. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญสีลขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
สมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์ได้
5. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญสมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
ปัญญาขันธ์ให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุทั้งหลาย

1. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีความเคารพ มีความยำเกรง มีความประพฤติ
เสมอภาคในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย จักบำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรม
ให้บริบูรณ์ได้
2. เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
เสขธรรมให้บริบูรณ์ได้
3. เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญสีลขันธ์
ให้บริบูรณ์ได้
4. เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญสีลขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญสมาธิขันธ์
ให้บริบูรณ์ได้
5. เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญสมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
ปัญญาขันธ์ให้บริบูรณ์ได้

ทุติยอคารวสูตรที่ 2 จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์]
3. ปัญจังคิกวรรค 3. อุปกิเลสสูตร

3. อุปกิเลสสูตร
ว่าด้วยความเศร้าหมอง

[23] ภิกษุทั้งหลาย สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง 5 ประการ เป็นเหตุให้ทอง
เศร้าหมอง ไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่ผุดผ่อง แตกง่าย ใช้งานไม่ได้ดี
สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง 5 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. เหล็ก 2. โลหะ
3. ดีบุก 4. ตะกั่ว
5. เงิน

ภิกษุทั้งหลาย สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง 5 ประการนี้แล เป็นเหตุให้ทอง
เศร้าหมอง ไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่ผุดผ่อง แตกง่าย ใช้งานไม่ได้ดี
แต่เมื่อใด ทองพ้นจากสิ่งเศร้าหมอง 5 ประการนี้แล้ว เมื่อนั้น ทองนั้น
ย่อมอ่อน ใช้การได้ ผุดผ่อง ไม่แตกง่าย ใช้งานได้ดี และช่างทองมุ่งหมายจะทำ
เครื่องประดับชนิดใด ๆ คือ แหวน ต่างหู สร้อยคอ หรือมาลัยทอง เครื่องประดับ
ชนิดนั้นย่อมอำนวยประโยชน์ให้เขาได้ ฉันใด
ความเศร้าหมองแห่งจิต 5 ประการ เป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง ไม่อ่อน
ไม่เหมาะแก่การใช้งาน ไม่ผุดผ่อง ฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งมั่นดีเพื่อความสิ้นอาสวะ ฉันนั้น
เหมือนกัน
ความเศร้าหมองแห่งจิต 5 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
2. พยาบาท (ความคิดร้าย)
3. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)
4. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
5. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)

ความเศร้าหมองแห่งจิต 5 ประการนี้แล เป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง ไม่อ่อน
ไม่เหมาะแก่การใช้งาน ไม่ผุดผ่อง ฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งมั่นดีเพื่อความสิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :27 }