เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 5. ติกัณฑกีวรรค 1. อวชนาติสูตร
5. ติกัณฑกีวรรค
หมวดว่าด้วยป่าติกัณฑกี
1. อวชานาติสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ให้แล้วดูหมิ่น
[141] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 5 จำพวกนี้ มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล 5 จำพวกไหนบ้าง คือ
1. บุคคลให้แล้วดูหมิ่น
2. บุคคลดูหมิ่น เพราะอยู่ร่วมกัน
3. บุคคลผู้เชื่อง่าย
4. บุคคลผู้โลเล
5. บุคคลผู้เขลา หลงงมงาย
บุคคลให้แล้วดูหมิ่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลในโลกนี้ให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารแก่บุคคลใด เขาคิดอย่างนี้ว่า ‘เราให้ ผู้นี้รับ’ ให้แล้ว ดูหมิ่นบุคคลนั้น บุคคล
ให้แล้วดูหมิ่น เป็นอย่างนี้แล
บุคคลดูหมิ่น เพราะอยู่ร่วมกัน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลในโลกนี้อยู่ร่วมกับบุคคลเป็นเวลา 2 ปี หรือ 3 ปี ดูหมิ่นผู้นั้น
เพราะอยู่ร่วมกัน บุคคลดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้เชื่อง่าย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เมื่อเขากล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่นอยู่ ก็น้อมใจเชื่อ
โดยพลันทีเดียว บุคคลผู้เชื่อง่าย เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้โลเล เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธาน้อย มีความภักดีน้อย มีความรัก
น้อย มีความเลื่อมใสน้อย บุคคลผู้โลเล เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :233 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 5. ติกัณฑกีวรรค 2. อารภติสูตร
บุคคลผู้เขลา หลงงมงาย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่รู้กุศลธรรมและอกุศลธรรม ไม่รู้ธรรมที่มีโทษ
และธรรมที่ไม่มีโทษ ไม่รู้ธรรมที่เลวและธรรมที่ประณีต ไม่รู้ธรรมดำและธรรมขาว1
บุคคลผู้เขลาหลงงมงาย เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 5 จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
อวชานาติสูตรที่ 1 จบ

2. อารภติสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ต้องอาบัติ
[142] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 5 จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล 5 จำพวกไหนบ้าง คือ
1. บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ต้องอาบัติ2 มีวิปปฏิสาร (ความร้อนใจ)
และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติ3 ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาป
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

เชิงอรรถ :
1 ธรรมดำ หมายถึงกายทุจริตเป็นต้น ธรรมขาว หมายถึงกายสุจริตเป็นต้น (สํ.ม.อ. 3/31-34/196,
ขุ.ธ.อ. 4/45-47)
2 ต้องอาบัติ (อารภติ) ฎีกาอธิบายว่า อารมฺภ ศัพท์ มีความหมายหลายนัยดังนี้ คือ (1) มีความหมายว่า
กรรม เช่น ประโยคว่า “ยํ กิญฺจิ ทุกฺขํ สมฺโภติ สพฺพํ อารมฺภปจฺจยา” แปลว่า “ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง
เกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย” (ขุ.สุ. 25/750/481) (2) มีความหมายว่า
กิริยา เช่น ประโยคว่า “มหารมฺภา มหายญฺญา น เต โหนฺติ มหปฺผลา” แปลว่า “มหายัญที่มีกิริยา
มากเหล่านั้น ย่อมไม่มีผลมาก” (สํ.ส. 15/120/92, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/39/64) (3) มีความหมายว่า
เบียดเบียน เช่น ประโยคว่า “สมณํ โคตมํ อุทฺทิสฺส ปาณํ อารภนฺติ” แปลว่า “ย่อมเบียดเบียนสัตว์อุทิศ
พระสมณโคดม” (ม.ม. 13/52/34) (4) มีความหมายว่า เพียร เช่น ประโยคว่า “อารมฺภถ นิกฺขมถ, ยุญฺชถ
พุทฺธสาสเน” แปลว่า “ท่านทั้งหลายจงเพียร จงออก จงประกอบในพระพุทธศาสนา” (สํ.ส. 15/185/188)
(5) มีความหมายว่า พราก เช่น ประโยคว่า “พีชคามภูตคามสมารมฺภา ปฏิวิรโต โหติ” แปลว่า “เว้นขาด
จากการพรากพืชคาม และภูตคาม” (ที.สี. (แปล) 9/10/4, ม.มู. 12/293/257) (6) มีความหมายว่า
ต้องอาบัติ เช่น ประโยคว่า “อารภติ จ วิปฺปฏิสารี จ โหติ” แปลว่า “บุคคลต้องอาบัติและมีวิปปฏิสาร”
(องฺ.ปญฺจก. (แปล) 22/142/234, อภิ.ปุ. (แปล) 36/191/218)
เพราะฉะนั้นในที่นี้ จึงแปลว่า ต้องอาบัติ (องฺ.ปญฺจก.ฏีกา 3/142-143/59)
3 เจโตวิมุตติ หมายถึงอรหัตตสมาธิ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลญาณ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/142/55)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :234 }