เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 4. ราชวรรค 10. โสตสูตร
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์เชื่อฟัง เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยหูฟังเหตุการณ์ที่
ควาญช้างให้ทำ คือเหตุการณ์ที่เคยทำหรือไม่เคยทำ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์
เชื่อฟัง เป็นอย่างนี้แล (1)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ฆ่าได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ฆ่าช้างบ้าง ฆ่าควาญช้างบ้าง ฆ่าม้าบ้าง
ฆ่าคนขี่ม้าบ้าง ทำลายรถบ้าง ฆ่าพลรถบ้าง ฆ่าพลเดินเท้าบ้าง ช้างของ
พระราชาเป็นสัตว์ฆ่าได้ เป็นอย่างนี้แล (2)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์รักษาได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว รักษากายส่วนหน้า รักษากาย
ส่วนหลัง รักษาเท้าหน้า รักษาเท้าหลัง รักษาศีรษะ รักษาหู รักษางา รักษางวง
รักษาหาง รักษาควาญช้าง ช้างของพระราชาเป็นสัตว์รักษาได้ เป็นอย่างนี้แล (3)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว อดทนต่อการประหาร
ด้วยหอก ดาบ ลูกศร ง้าว เสียงกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และมโหระทึกที่กระหึ่ม
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล (4)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ไปสู่ทิศที่ควาญช้างไสไป คือทิศที่เคยไป หรือ
ทิศที่ยังไม่เคยไปได้โดยเร็วพลัน ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างนี้แล (5)
ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ 5 ประการนี้แล เป็นช้างควร
แก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้
ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำ
อัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :230 }