เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 4. ราชวรรค 6. ทุติยปัตถนาสูตร
เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของ
พระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า เราเป็นผู้มีอาพาธ
น้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก
ไม่ร้อนนัก ปานกลาง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้น
อาสวะเล่า เราเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน
ศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะ
เล่า เราเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความ
เข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ไฉนเราจะไม่
ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า เราเป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง
พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้น
ทุกข์โดยชอบ ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมปรารถนาความ
สิ้นอาสวะ
ปฐมปัตถนาสูตรที่ 5 จบ

6. ทุติยปัตถนาสูตร
ว่าด้วยความปรารถนา สูตรที่ 2
[136] ภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรสองค์ใหญ่ของกษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบด้วย องค์ 5 ประการ ย่อมปรารถนาความเป็นอุปราช
องค์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
พระราชโอรสองค์ใหญ่ของกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วในโลกนี้
1. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะ
อ้างถึงชาติตระกูล
2. เป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :220 }