เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 1. ผาสุวิหารวรรค 3. มหาโจรสูตร
มหาโจรอาศัยป่ารก เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้อาศัยป่ารกด้วยหญ้าบ้าง ป่ารกด้วยต้นไม้บ้าง ป่าที่มี
แนวป้องกันบ้าง แนวป่าใหญ่บ้าง มหาโจรอาศัยป่ารก เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรอาศัยผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้อาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา เขาคิด
อย่างนี้ว่า ‘ถ้าใครจักกล่าวหาอะไรเรา พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา
เหล่านี้ ก็จักว่าคดีความช่วยปกป้องเรา’ ถ้าใครกล่าวหาอะไรมหาโจรนั้น พระราชา
หรือมหาอำมาตย์ของพระราชานั้น ต่างก็ว่าคดีความช่วยปกป้องเขา มหาโจรอาศัย
ผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรแจกจ่ายโภคทรัพย์ เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก เขาคิดอย่างนี้ว่า
‘ถ้าใครจักกล่าวหาอะไรเรา เราก็จักจ่ายโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่องนั้น’ ถ้าใคร
กล่าวหาอะไรมหาโจรนั้น เขาก็จ่ายโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่องนั้น มหาโจรแจกจ่าย
โภคทรัพย์ เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรเที่ยวไปคนเดียว เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้เป็นผู้ทำโจรกรรมคนเดียว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขา
ย่อมปรารถนาว่า ‘เรื่องลับของเราอย่าได้แพร่งพรายออกไปภายนอก’ มหาโจรเที่ยว
ไปคนเดียว เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรประกอบด้วยองค์ 5 ประการนี้แล ย่อมงัดแงะบ้าง ทำการปล้นบ้าง
ล้อมปล้นเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในทางเปลี่ยวบ้าง ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพ1
สิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
1 ประสพ (ปสวติ) ในที่นี้หมายถึงได้ผลสะท้อนหรือผลย้อนกลับ(ปฏิลภติ) (องฺ.ติก.อ. 2/41/148, องฺ.จตุกฺก.
อ. 2/4/281 )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :178 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 1. ผาสุวิหารวรรค 3. มหาโจรสูตร
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้
1. อาศัยกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา 2. อาศัยที่เร้นลับ
3. อาศัยผู้มีอิทธิพล 4. แจกจ่ายโภคทรัพย์
5. เที่ยวไปรูปเดียว
ภิกษุชั่วอาศัยกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้ประกอบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ไม่ตรงไป
ตรงมา ภิกษุชั่วอาศัยกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชั่วอาศัยกรรมที่เร้นลับ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ1 ภิกษุ
ชั่วอาศัยกรรมที่เร้นลับ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชั่วอาศัยผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้อาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา
ภิกษุนั้นคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าใครจักกล่าวหาอะไรเรา พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของ
พระราชาเหล่านี้ ก็จักว่าคดีความช่วยปกป้องเรา’ ถ้าใครว่ากล่าวอะไรภิกษุนั้น
พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชานั้น ต่างก็ว่าคดีความช่วยปกป้องเธอ ภิกษุ
ชั่วอาศัยผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 อันตคาหิกทิฏฐิ หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี 10 ประการ คือ เห็นว่า (1) โลก
เที่ยง (2) โลกไม่เที่ยง (3) โลกมีที่สุด (4) โลกไม่มีที่สุด (5) ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน (6) ชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน (7) หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก (8) หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก
(9) หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี (10) หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่
ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ (องฺ.ทสก. (แปล) 24/93/217, อภิ.วิ. (แปล) 35/972/621, องฺ.ติก.อ. 2/51/156)
ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ หรือ อาตมัน (Soul) (ตามนัย อภิ.ปญฺจ.อ. 1/1/129)
ตถาคต ในที่นี้ เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใชักันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึง
พระพุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่าหมายถึงสัตว์ (ที.สี.อ. 65/108)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :179 }