เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. กกุธวรรค 9. สีหสูตร
8. อารัญญกสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
[98] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ทำอานาปานสติ-
กัมมัฏฐานให้มากอยู่ ไม่นานนัก ย่อมบรรลุอกุปปธรรม
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษในบริขารแห่งชีวิต
2. เป็นผู้มีอาหารน้อย หมั่นประกอบความไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง
3. เป็นผู้มีการหลับน้อย หมั่นประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
4. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ในเสนาสนะอันเงียบสงัด
5. พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ทำอานาปานสติ-
กัมมัฏฐานให้มากอยู่ ไม่นานนัก ย่อมบรรลุอกุปปธรรม
อารัญญกสูตรที่ 8 จบ

9. สีหสูตร
ว่าด้วยพญาราชสีห์
[99] ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาเย็น พญาราชสีห์ออกจากที่อาศัยแล้วบิดกาย
ชำเลืองดูรอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศ บรรลือสีหนาท 3 ครั้ง แล้วก็หลีกไปหากิน พญา-
ราชสีห์นั้น ถ้าแม้จะจับช้าง ก็จับได้แม่นยำ ไม่พลาด แม้จะจับกระบือ ก็จับได้
แม่นยำ ไม่พลาด แม้จะจับโค ก็จับได้แม่นยำ ไม่พลาด แม้จะจับเสือเหลือง ก็จับได้
แม่นยำ ไม่พลาด แม้จะจับพวกสัตว์เล็กๆ โดยที่สุดแม้กระต่ายและแมว ก็จับได้
แม่นยำ ไม่พลาดทีเดียว ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะพญาราชสีห์นั้นคิดว่า “ช่องทาง
หากินของเราอย่าเสียไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :168 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. กกุธวรรค 9. สีหสูตร
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า สีหะ นี้เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
อาการที่ตถาคตแสดงธรรมแก่บริษัท เป็นสีหนาท1ของตถาคตแท้ คือ ตถาคต
1. แม้จะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ2 ไม่แสดง
โดยไม่เคารพ
2. แม้จะแสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดง
โดยไม่เคารพ
3. แม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดง
โดยไม่เคารพ
4. แม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดง
โดยไม่เคารพ
5. แม้จะแสดงธรรมแก่ปุถุชนทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดย
ไม่เคารพ โดยที่สุดแม้จะแสดงแก่คนขอทานและพรานนก3 ก็แสดง
โดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเป็นผู้หนักในธรรม เคารพธรรม
สีหสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 สีหนาท หมายถึงคำพูดที่ตรัสด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะทรงมั่นพระทัย
ในศีล สมาธิ และปัญญาของพระองค์ (ที.สี.ฏีกา 403/432)
2 คำว่า โดยเคารพ แปลจากคำว่า “สกฺกจฺจํ” ในที่นี้หมายถึงความตั้งใจจริง เอาจริงเอาจังถือเป็นเรื่องสำคัญ
ดุจในประโยคว่า “วจฺฉกํ สกฺกจฺจํ อุปนิชฺฌายติ” แปลว่า “จ้องดูลูกวัวอย่างสนใจจริงจัง” (วิ.ม. 5/255/19)
และเทียบ ที.ปา.อ. 267/147, องฺ.ปญฺจก.อ. 3/154/59
3 ตามนัย องฺ.ปญฺจก.อ. 3/99/45

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :169 }