เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 4. เถรวรรค 8. เถรสูตร
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เป็นรัตตัญญู บวชมานาน
2. เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ มีบริวารมาก ปรากฏแก่พวกคฤหัสถ์และบรรพชิต
3. เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร
4. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามใน
ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วนแล้ว ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดี
ด้วยทิฏฐิ
5. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริต บุคคลนั้นทำให้คนหมู่มาก
ออกจากอสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม คนหมู่มากพากันตาม
อย่างเธอด้วยคิดว่า ‘เป็นภิกษุเถระ เป็นรัตตัญญู บวชมานาน’ บ้าง
‘เป็นภิกษุเถระ มีชื่อเสียง มียศ มีบริวารมาก ปรากฏแก่พวก
คฤหัสถ์และบรรพชิต’ บ้าง ‘เป็นภิกษุเถระ ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร’ บ้าง ‘เป็นภิกษุเถระ
เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ’ บ้าง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เถรสูตรที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :158 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 4. เถรวรรค 9. ปฐมเสขสูตร
9. ปฐมเสขสูตร
ว่าด้วยธรรมของพระเสขะ1 สูตรที่ 1
[89] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่
ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความเป็นผู้ชอบการงาน2
2. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
3. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
4. ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
5. ไม่พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว3
ธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ธรรม 5 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
2. ความเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย
3. ความเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ
4. ความเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
5. พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ผู้เป็นเสขะ
ปฐมเสขสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 1 หน้า 1 ในเล่มนี้
2 การงาน ในที่นี้หมายถึงการกะจีวร ทำจีวร เย็บปะจีวร ทำถลกบาตร อังสะ ประคตเอว ผ้ากรองน้ำ
ทำเชิงรองบาตร ผ้าเช็ดเท้า ไม้กวาด เป็นต้นตลอดวัน (องฺ.ปญฺจก.ฏีกา 3/89/44)
3 ไม่พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว หมายถึงไม่พิจารณาโทษที่ตนละ และคุณที่ตนได้ ตามที่จิตหลุด
พ้นแล้ว พยายามเพื่อให้ได้คุณเบื้องสูงขึ้นไป (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/89/43)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :159 }