เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 3. โยธาชีวรรค 5. ปฐมโยธาชีวสูตร
ความท้อแท้1 เสพเมถุนธรรม2 นี้ชื่อว่าการประหารของข้าศึก
สำหรับเธอ
เรากล่าวว่าภิกษุนี้เปรียบเหมือนนักรบอาชีพที่แม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แม้
เห็นยอดธงของข้าศึกก็อดทนได้ แม้ได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกก็อดทนได้ แต่หวาด
สะดุ้งต่อการประหารของข้าศึก บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือ
บุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ 4 ซึ่งมีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย
5. ภิกษุในธรรมวินัยนี้แม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แม้เห็นยอดธงของ
ข้าศึกก็อดทนได้ แม้ได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกก็อดทนได้ อดทน
ต่อการประหารของข้าศึกได้ ชนะสงครามแล้ว เป็นผู้พิชิตสงคราม
ยึดค่ายสงครามนั้นไว้ได้ อะไรชื่อว่าชัยชนะในสงครามสำหรับเธอ
คือ มาตุคามเข้าไปหาภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือ
ไปสู่เรือนว่าง แล้วนั่งทับ นอนทับ ข่มขืน เธอถูกมาตุคามนั่งทับ
นอนทับ ข่มขืนอยู่ ไม่พัวพัน แต่ปลดเปลื้อง หลีกออกได้ แล้วหลีก
ไปตามความประสงค์ เธอพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ3 ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอไปสู่ป่า
ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์4 ตั้งกายตรง ดำรง
สติไว้เฉพาะหน้า5 ละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)ในโลก6
มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความ
มุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์
อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ
(ความหดหู่และความเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนด

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 55 (มาตาปุตตสูตร) หน้า 95 ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 55 (มาตาปุตตสูตร) หน้า 95 ในเล่มนี้
3 ป่าทึบ หมายถึงป่าที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เลยเขตหมู่บ้านไป (องฺ.ทุก.อ. 2/31/30)
4 นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง 2 ข้าง เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. 1/165/445)
5 ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน (วิ.อ. 1/165/445)
6 โลก ในที่นี้หมายถึงสภาวะที่ต้องแตกสลาย กล่าวคือ อุปาทานขันธ์ 5 ได้แก่ ความถือมั่นรูป เวทนา
สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่าเป็นอัตตาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (ที.สี.อ. 217/190)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :129 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 3. โยธาชีวรรค 5. ปฐมโยธาชีวสูตร
แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ
ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน
มีจิตสงบภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) ข้ามพ้นวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา เธอละนิวรณ์ 5 ประการนี้ ซึ่งเป็น
เครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญาแล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน1ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
อย่างนี้ เธอน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
เมื่อเธอรู้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ
และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว2 ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ นี้ชื่อว่าชัยชนะในสงคราม
สำหรับเธอ
เรากล่าวว่าภิกษุนี้เปรียบเหมือนนักรบอาชีพที่แม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แม้เห็น
ยอดธงของข้าศึกก็อดทนได้ แม้ได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกก็อดทนได้ อดทนต่อการ
ประหารของข้าศึกได้ เขาชนะสงครามนั้นแล้ว เป็นผู้พิชิตสงคราม ยึดค่ายสงคราม
นั้นไว้ได้ บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบ
อาชีพจำพวกที่ 5 ซึ่งมีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพ 5 จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ใน
ภิกษุทั้งหลาย
ปฐมโยธาชีวสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 กิเลส คือ ราคะ โทสะ และโมหะ ท่านเรียกว่ากิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำโน้มเอียง
ไปสู่ที่ต่ำเช่น ต้องย้อนกลับไปสู่จตุตถฌานอีกเป็นต้น ดู อภิ.วิ. (แปล) 35/924/578
2 อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำ
เพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ ได้ชื่อว่า อเสขบุคคล (เทียบ ที.สี.อ. 248/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :130 }