เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 3. โยธาชีวรรค 1. ปฐมเจโตวิมุตติผลสูตร
3. โยธาชีววรรค
หมวดว่าด้วยนักรบอาชีพ

1. ปฐมเจโตวิมุตติผลสูตร
ว่าด้วยธรรมมีเจโตวิมุตติเป็นผล สูตรที่ 1
[71] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้ ที่บุคคล
เจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุตติเป็นผล มีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมี
ปัญญาวิมุตติเป็นผล มีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่
2. กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร
3. กำหนดความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง
4. พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
5. เข้าไปตั้งมรณสัญญาไว้ในภายใน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
เจโตวิมุตติเป็นผล มีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมีปัญญาวิมุตติเป็นผล
มีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์
เมื่อใด ภิกษุมีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เมื่อนั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า
‘เป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้’ บ้าง ว่า ‘เป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้’ บ้าง ว่า ‘เป็นผู้ถอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :119 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 3. โยธาชีวรรค 1. ปฐมเจโตวิมุตติผลสูตร
เสาระเนียดขึ้นได้’ บ้าง ว่า ‘เป็นผู้ถอดกลอนออกได้’ บ้าง ว่า ‘เป็นผู้ไกลจากข้าศึก
ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้1 ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะ’ บ้าง
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละอวิชชาได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุ
ชื่อว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละชาติสงสารซึ่งเป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ได้หมดสิ้น
ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละตัณหาได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุ
ชื่อว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอดกลอนออกได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) 5
ประการได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอดกลอนออกได้
เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 ธง ในที่นี้หมายถึงมานะ(ความถือตัว) ภาระ ในที่นี้หมายถึงขันธมาร(มารคือขันธ์ 5) อภิสังขารมาร(มารคือ
อภิสังขาร = เครื่องปรุงแต่งกรรม) และกิเลสมาร(มารคือกิเลส) (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/71/34)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :120 }