เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 2. สัญญาวรรค 8. ทุติยอิทธิปาทสูตร
8. ทุติยอิทธิปาทสูตร
ว่าด้วยอิทธิบาท สูตรที่ 2
[68] ภิกษุทั้งหลาย ก่อนจะตรัสรู้ เราเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้
ได้เจริญทำให้มากซึ่งธรรม 5 ประการ
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
เราได้เจริญ
1. อิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร
2. อิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร
3. อิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร
4. อิทธิบาทที่ประกอบด้วยวีมังสาสมาธิและปธานสังขาร
5. ความขะมักเขม้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะได้เจริญทำให้มากซึ่งธรรมมีความขะมักเขม้นเป็นที่ 5 นี้
เราจึงได้น้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆเมื่อมีเหตุ1
เราจึงบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ
ถ้าเรานั้นพึงหวังว่า ‘เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็น
หลายคนก็ได้ ฯลฯ2 ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’ เมื่อมีเหตุ เราจึง
บรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ
ถ้าเรานั้นพึงหวังว่า ฯลฯ เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มี
อาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เมื่อมีเหตุ เรา
จึงบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ3
ทุติยอิทธิปาทสูตรที่ 8 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 23 (อุปกิเลสสูตร) หน้า 28 ในเล่มนี้
2 “ฯลฯ” ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มในข้อ 23 (อุปกิเลสสูตร) หน้า 28-30 ในเล่มนี้
3 ในสูตรนี้นอกจากพระองค์จะทรงแสดงอิทธิบาทที่เป็นเหตุให้พระองค์บรรลุปฏิเวธที่ควงไม้โพธิ์แล้ว ยังได้
ทรงแสดงอภิญญา 4 ประการที่พระองค์บรรลุ เพิ่มเติมอีกด้วย (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/67-70/33)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :116 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 2. สัญญาวรรค 9. นิพพิทาสูตร
9. นิพพิทาสูตร1
ว่าด้วยความเบื่อหน่าย
[69] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่
2. กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร
3. กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง
4. พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
5. เข้าไปตั้งมรณสัญญาไว้ในภายใน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น
ไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว
นิพพิทาสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 นิพพิทาสูตร และอาสวักขยสูตร นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสมุ่งถึงวิปัสสนากัมมัฏฐาน (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/67-
70/33)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :117 }