เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 2. สัญญาวรรค 6. สาชีวสูตร
6. สาชีวสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ควรแก่สาชีพ1
[66] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการ เป็นผู้ควรแก่
สาชีพของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และตอบปัญหาที่ตั้งขึ้นถามในเรื่อง
สีลสัมปทาได้
2. ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และตอบปัญหาที่ตั้งขึ้นถามในเรื่อง
สมาธิสัมปทาได้
3. ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา และตอบปัญหาที่ตั้งขึ้นถามในเรื่อง
ปัญญาสัมปทาได้
4. ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ และตอบปัญหาที่ตั้งขึ้นถามใน
เรื่องวิมุตติสัมปทาได้
5. ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และตอบปัญหาที่ตั้ง
ขึ้นถามในเรื่องวิมุตติญาณทัสสนสัมปทาได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล เป็นผู้ควรแก่สาชีพ
ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
สาชีวสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 สาชีพ ในที่นี้หมายถึงการถามปัญหา และการตอบปัญหา เพราะเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายจะอยู่ร่วมกันได้
ก็ด้วยอาศัยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันมีข้อสงสัยก็ถามกัน แก้ปัญหาให้กัน (องฺ.ปญฺจก.อ.3/66/33)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :114 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 2. สัญญาวรรค 7. ปฐมอิทธิปาทสูตร
7. ปฐมอิทธิปาทสูตร
ว่าด้วยอิทธิบาท สูตรที่ 1
[67] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งเจริญทำให้มากซึ่งธรรม
5 ประการ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึงหวังได้ผลอย่าง 1 ใน 2 อย่าง คือ อรหัตตผล
ในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญ
1. อิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร1
2. อิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร
3. อิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร
4. อิทธิบาทที่ประกอบด้วยวีมังสาสมาธิและปธานสังขาร
5. ความขะมักเขม้น2
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งเจริญทำให้มากซึ่งธรรม 5 ประการ
นี้แล ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึงหวังได้ผลอย่าง 1 ใน 2 อย่าง คือ อรหัตตผลใน
ปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
ปฐมอิทธิปาทสูตรที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 ฉันทสมาธิ หมายถึงสมาธิที่เกิดจากฉันทะ
ปธานสังขาร หมายถึงความเพียรที่มุ่งมั่น วิริยสมาธิ จิตตสมาธิและวีมังสาสมาธิ ก็มีอรรถาธิบายเช่นเดียวกัน
เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ (องฺ.เอกก.อ. 1/389-401/445)
2 ความขะมักเขม้น (อุสฺโสฬฺหิ) หมายถึงอธิมัตตวิริยะ (ความเพียรชั้นสูง) (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/67-70/33)
และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/93/141

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :115 }