เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. นีวรณวรรค 8. ลิจฉวิกุมารกสูตร
ถ้าเราพึงเกลียดธรรมนั้น
ในสัตว์ทั้งหลายผู้มีธรรมอย่างนั้น
ข้อนั้นไม่สมควรแก่เรา ผู้เป็นอยู่อย่างนี้
เรานั้นดำรงอยู่อย่างนี้ รู้ธรรมที่ไม่มีอุปธิกิเลส1
เห็นเนกขัมมะ2ว่า เป็นธรรมเกษม
ครอบงำความมัวเมาทั้งปวงในความไม่มีโรค
ในความเป็นหนุ่ม สาว และในชีวิต
ความอุตสาหะได้มีแล้วแก่เราผู้เห็นแจ้งนิพพาน
บัดนี้ เราไม่ควรเสพกาม
จักประพฤติไม่ถอยหลัง3
มุ่งประพฤติพรหมจรรย์4
ฐานสูตรที่ 7 จบ

8. ลิจฉวิกุมารกสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีกุมาร
[58] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เสด็จกลับจากบิณฑบาตหลังจาก
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน ประทับนั่งพักผ่อน
กลางวัน ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง

เชิงอรรถ :
1 ธรรมที่ไม่มีอุปธิกิเลส ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/57/31)
2 เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงบรรพชา (การบวช) (องฺ.ปญฺจก.อ.3/57/31)
3 ประพฤติไม่ถอยหลัง ในที่นี้หมายถึงไม่ถอยหลังจากบรรพชา จากการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ และจาก
พระสัพพัญญุตญาณ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/57/31)
4 พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมรรคพรหมจรรย์ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นโลกุตตระ (องฺ.ปญฺจก.อ.
3/57/31)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :104 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. นีวรณวรรค 8. ลิจฉวิกุมารกสูตร
สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีกุมารหลายพระองค์ถือธนูที่ขึ้นสาย มีฝูงสุนัขแวดล้อมเดิน
เที่ยวไปในป่ามหาวัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงวาง
ธนูที่ขึ้นสายไว้แล้ว ปล่อยฝูงสุนัขไป ณ ที่สมควร พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ต่างนั่งนิ่งประคองอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค
สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่ามหานามะเดินพักผ่อนอยู่ในป่ามหาวัน ได้เห็นเจ้า
ลิจฉวีกุมารเหล่านั้นผู้ต่างนั่งนิ่งประคองอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เปล่งอุทานว่า
“เจ้าวัชชีจักเจริญ เจ้าวัชชีจักเจริญ”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า มหานามะ เพราะเหตุไร เธอจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“เจ้าวัชชีจักเจริญ เจ้าวัชชีจักเจริญ”
เจ้ามหานามะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ เป็นผู้
ดุร้าย หยาบคาย กระด้าง ของขวัญต่าง ๆ คือ อ้อย พุทรา ขนม ขนมต้ม หรือ
ขนมแดกงาที่เขาส่งไปในตระกูลทั้งหลาย เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ก็แย่งชิงเอาไปกิน
ถีบหลังกุลสตรีบ้าง กุลกุมารีบ้าง แต่บัดนี้ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ต่างนั่งนิ่งประคอง
อัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหานามะ กุลบุตรคนใด เป็นกษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษก1แล้วก็ตาม เป็นผู้ปกครองรัฐซึ่งรับมรดกจากบิดาก็ตาม เป็นอัคร-
เสนาบดีก็ตาม เป็นผู้ใหญ่บ้านก็ตาม เป็นหัวหน้าคณะก็ตาม เป็นใหญ่เฉพาะตระกูล
ก็ตาม มีธรรม 5 ประการนี้ กุลบุตรนั้นพึงหวังได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความ
เสื่อมเลย
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. กุลบุตรในโลกนี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชามารดาบิดาด้วย
โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วย
น้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม

เชิงอรรถ :
1 มูรธาภิเษก หมายถึงน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่น ๆ (พจนานุกรม ฉบับ
ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :105 }