เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. นีวรณวรรค 7. ฐานสูตร
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความตาย
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เราจะต้องพลัด
พรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น‘ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจในของรักของชอบใจซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วย
วาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความ
กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในของรักของชอบใจนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบา
บางลงได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เราจะต้อง
พลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีกรรม
เป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อม
เป็นผู้รับผลของกรรมนั้น’ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำ
ให้เบาบางลงได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีกรรม
เป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม
เป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผล
ของกรรมนั้น’
ผลแห่งการพิจารณาฐานะ 5 ประการ
ภิกษุทั้งหลาย
1. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้น ที่มี
ความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ แท้จริง สัตว์ทั้งปวง
ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :101 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. นีวรณวรรค 7. ฐานสูตร
ล่วงพ้นความแก่ไปได้’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ
มรรค1ย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ2 เจริญ ทำให้มากซึ่ง
มรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละสังโยชน์3ได้
อนุสัย4ย่อมสิ้นไป
2. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้นที่มี
ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ แท้จริง สัตว์
ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ล้วนมีความเจ็บไข้
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณา
ฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ เจริญ
ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละ
สังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป

เชิงอรรถ :
1 มรรค ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรมรรค ได้แก่ อริยมรรค 4 คือ โสตาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/57/31)
2 เสพในที่นี้หมายถึงการนึกหน่วง การรู้ การเห็น การพิจารณา การอธิษฐานจิต การน้อมใจเชื่อ ประคอง
ความเพียร ตั้งสติไว้ ตั้งจิตไว้ กำหนดรู้ด้วยปัญญา รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ละ
ธรรมที่ควรละ เจริญธรรมที่ควรเจริญ ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง (องฺ.เอกก.อ.1/53/63)
เจริญ หมายถึงบำเพ็ญสิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น และตามรักษาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้มีอยู่ตลอดไป
(องฺ.เอกก.อ. 1/54-55/63, 418/448, 453/469)
ทำให้มาก หมายถึงทำบ่อย ๆ (องฺ.เอกก.อ. 1/600-611/480)
3 สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ หรือธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี 10 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ,
วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามฉันทะหรือกามราคะ, พยาบาทหรือปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ,
อุทธัจจะ, อวิชชา (สํ.ม.19/180-181/56-57, องฺ.ทสก. (แปล) 24/13/21, อภิ.วิ. (แปล) 35/940/
592)
4 อนุสัย หมายถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานมี 7 ประการ คือ (1) กามราคะ (ความกำหนัดในกาม)
(2) ปฏิฆะ (ความขัดใจ) (3) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (4) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (5) มานะ (ความถือตัว)
(6) ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ) (7) อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) (สํ.สฬา.อ. 3/53-62/14, องฺ.ปญฺจก.อ.
3/57/31)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :102 }