เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [4.จตุตถปัณณาสก์]
5.มหาวรรค 8.อัตตันตปสูตร

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2
ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติบ้าง 30
ชาติบ้าง 40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง 1,000 ชาติบ้าง 100,000
ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพ
โน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลาย
ชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำ และชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็น
ชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะ
ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและ เกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 21 หน้า :310 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [4.จตุตถปัณณาสก์] 5.มหาวรรค 9.ตัณหาสูตร

เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์1
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็น
ผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
และบุคคลนั้นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน
เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก”

อัตตันตปสูตรที่ 8 จบ

9. ตัณหาสูตร
ว่าด้วยตัณหา

[199] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป
ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่ง
เหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่
ให้ล่วงพ้นอบาย2 ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป เกาะเกี่ยว
อยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย
อันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้น
อบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ นั้นเป็นอย่างไร
คือ ตัณหาวิจริต 18 ประการนี้อาศัยขันธปัญจก3ภายใน