เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [4.จตุตถปัณณาสก์]
3.สัญเจตนิยวรรค 5.อุปวาณสูตร

ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง ท่านผู้มีอายุ ปปัญจธรรมย่อมดำเนินไป
ตราบเท่าที่ผัสสายตนะ 6 ประการดำเนินไป ผัสสายตนะ 6 ประการก็ดำเนินไป
ตราบเท่าที่ปปัญจธรรมดำเนินไป ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ 6 ประการดับไป
ไม่เหลือด้วยวิราคะ ปปัญจธรรมจึงดับสนิท ระงับไป”

อานันทสูตรที่ 4 จบ

5. อุปวาณสูตร
ว่าด้วยพระอุปวาณะ

[175] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุปวาณะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้
ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาหรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ ไม่ใช่อย่างนี้”
ท่านพระอุปวาณะกล่าวว่า “ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วย
จรณะหรือ”
“ผู้มีอายุ ไม่ใช่อย่างนี้”
“ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาและจรณะหรือ”
“ผู้มีอายุ ไม่ใช่อย่างนี้”
“ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยเหตุนอกจากวิชชาและจรณะหรือ”
“ผู้มีอายุ ไม่ใช่อย่างนี้”
ท่านพระอุปวาณะกล่าวว่า “เมื่อผมถามว่า ‘ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาหรือ’ ท่านตอบว่า ‘ไม่ใช่อย่างนี้’ เมื่อผมถามว่า “บุคคลทำ
ที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยจรณะหรือ’ ท่านก็ตอบว่า ‘ไม่ใช่อย่างนี้’ เมื่อผมถามว่า
‘บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาและจรณะหรือ’ ท่านก็ตอบว่า ‘ไม่ใช่อย่างนี้’
เมื่อผมถามว่า ‘บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยเหตุนอกจากวิชชาและจรณะหรือ’
ท่านก็ตอบว่า ‘ไม่ใช่อย่างนี้’ ผู้มีอายุ ก็บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้อย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 21 หน้า :247 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [4.จตุตถปัณณาสก์]
3.สัญเจตนิยวรรค 6. อายาจนสูตร

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ถ้าบุคคลจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาแล้ว ก็จัก
มีความยึดมั่นถือมั่นทำที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าบุคคลจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยจรณะแล้ว
ก็จักมีความยึดมั่นถือมั่นทำที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าบุคคลจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชา
และจรณะแล้ว ก็จักมีความยึดมั่นถือมั่นทำที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าบุคคลจักทำที่สุดแห่ง
ทุกข์ด้วยเหตุนอกจากวิชชาและจรณะแล้ว ปุถุชนก็จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะ
ปุถุชนไม่มีวิชชาและจรณะ ผู้มีอายุ บุคคลผู้มีจรณะวิบัติย่อมไม่รู้ไม่เห็นตามความ
เป็นจริง บุคคลผู้ประกอบด้วยจรณะย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อรู้เห็นตาม
ความเป็นจริงย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”

อุปวาณสูตรที่ 5 จบ

6. อายาจนสูตร
ว่าด้วยความปรารถนาโดยชอบ

[176] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนา
อย่างนี้ว่า ‘ขอให้เราเป็นเช่นกับพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถิด’ สารีบุตร
และโมคคัลลานะนี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานของภิกษุสาวกของเรา
ภิกษุณีผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เราเป็น
เช่นกับภิกษุณีเขมาและภิกษุณีอุบลวรรณาเถิด’ ภิกษุณีเขมาและภิกษุณีอุบลวรรณา
นี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานแห่งภิกษุณีสาวิกาของเรา
อุบาสกผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เรา
เป็นเช่นกับจิตตคหบดีและหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเถิด’ จิตตคหบดีและหัตถก-
อุบาสกชาวเมืองอาฬวีนี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานแห่งอุบาสกสาวกของเรา
อุบาสิกาผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอให้
เราเป็นเช่นกับอุบาสิกาขุชชุตตราและอุบาสิกาเวฬุกัณฏกีนันทมาตาเถิด’ อุบาสิกา
ขุชชุตตราและอุบาสิกาเวฬุกัณฏกีนันทมาตานี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานของ
อุบาสิกาสาวิกาของเรา”

อายาจนสูตรที่ 6 จบ