เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [3.ตติยปัณณาสก์] 3.ภยวรรค 2.อูมิภยสูตร

2. อูมิภยสูตร
ว่าด้วยภัยจากคลื่น

[122] ภิกษุทั้งหลาย ภัย 4 ประการนี้ที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ
ภัย 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อูมิภัย (ภัยจากคลื่น) 2. กุมภีลภัย (ภัยจากจระเข้)
3. อาวัฏฏภัย (ภัยจากน้ำวน) 4. สุสุกาภัย (ภัยจากปลาร้าย)
ภิกษุทั้งหลาย ภัย 4 ประการนี้แลที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภัย 4 ประการนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ที่กุลบุตรบางคนใน
โลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้พึงประสบ
ภัย 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อูมิภัย 2. กุมภีลภัย
3. อาวัฏฏภัย 4. สุสุกาภัย
อูมิภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ (ความเกิด) ชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ)
อุปายาส (ความคับแค้นใจ) ครอบงำ ตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ
การทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุดจะพึงปรากฏ” เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอน
เธอผู้บวชแล้วนั้นว่า “เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ พึงแลดูอย่างนี้
พึงเหลียวดูอย่างนี้ พึงคู้เข้าอย่างนี้ พึงเหยียดออกอย่างนี้ พึงครองสังฆาฏิ บาตร
และจีวรอย่างนี้” เธอคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ มีแต่ตักเตือนพร่ำสอน
ผู้อื่น ก็ภิกษุเหล่านี้มีอายุคราวลูก คราวหลานของเรายังจะมาตักเตือนพร่ำสอน”
เธอขุ่นเคืองไม่พอใจ บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวอูมิภัย
บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า อูมิภัย นี้เป็นชื่อเรียกความโกรธและ
ความคับแค้นใจ นี้เรียกว่า อูมิภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 21 หน้า :184 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [3.ตติยปัณณาสก์] 3.ภยวรรค 2.อูมิภยสูตร

กุมภีลภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตกอยู่ใน
กองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอการทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุดจะพึง
ปรากฏ” เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอนเธอผู้บวชแล้วนั้นว่า “สิ่งนี้เธอพึงฉัน
สิ่งนี้เธอไม่พึงฉัน สิ่งนี้เธอพึงบริโภค สิ่งนี้เธอไม่พึงบริโภค สิ่งนี้เธอพึงลิ้ม สิ่งนี้
เธอไม่พึงลิ้ม สิ่งนี้เธอพึงดื่ม สิ่งนี้เธอไม่พึงดื่ม สิ่งเป็นกัปปิยะ1เธอพึงฉัน สิ่ง
เป็นอกัปปิยะ2เธอไม่พึงฉัน สิ่งเป็นกัปปิยะเธอพึงบริโภค สิ่งเป็นอกัปปิยะเธอไม่พึง
บริโภค สิ่งเป็นกัปปิยะเธอพึงลิ้ม สิ่งเป็นอกัปปิยะเธอไม่พึงลิ้ม สิ่งเป็นกัปปิยะเธอ
พึงดื่ม สิ่งเป็นอกัปปิยะเธอไม่พึงดื่ม เธอพึงฉันในเวลา เธอไม่พึงฉันนอกเวลา
เธอพึงบริโภคในเวลา เธอไม่พึงบริโภคนอกเวลา เธอพึงลิ้มในเวลา เธอไม่พึงลิ้มนอก
เวลา เธอพึงดื่มในเวลา เธอไม่พึงดื่มนอกเวลา” เธอคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน
เราเป็นคฤหัสถ์ เคี้ยวกินสิ่งที่เราต้องการ ไม่เคี้ยวกินสิ่งที่เราไม่ต้องการ บริโภค
สิ่งที่เราต้องการ ไม่บริโภคสิ่งที่เราไม่ต้องการ ลิ้มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ลิ้มสิ่งที่เรา
ไม่ต้องการ ดื่มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ดื่มสิ่งที่เราไม่ต้องการ กินทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะ
และสิ่งเป็นอกัปปิยะ บริโภคทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ลิ้มทั้งสิ่งเป็น
กัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ดื่มทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ กินทั้งในเวลา
และนอกเวลา บริโภคทั้งในเวลาและนอกเวลา ลิ้มทั้งในเวลาและนอกเวลา ดื่มทั้ง
ในเวลาและนอกเวลา สิ่งใดที่ประณีตไม่ว่าจะเป็นของเคี้ยวหรือของบริโภคที่คหบดีผู้
มีศรัทธาถวายแก่เราทั้งในเวลาและนอกเวลา ภิกษุเหล่านี้ทำเหมือนปิดปากแม้ใน
สิ่งของเหล่านั้น” เธอขัดเคือง ไม่พอใจ บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียก
ว่า ภิกษุผู้กลัวกุมภีลภัยบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า กุมภีลภัย นี้
เป็นชื่อเรียกความเป็นคนเห็นแก่ปากท้อง นี้เรียกว่า กุมภีลภัย