เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [3.ตติยปัณณาสก์]
2.เกสิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

9. ปฐมภยสูตร
ว่าด้วยภัยภายใน สูตรที่ 1

[119] ภิกษุทั้งหลาย ภัย 4 ประการนี้
ภัย 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ชาติภัย (ภัยเกิดเพราะความเกิด)
2. ชราภัย (ภัยเกิดเพราะความแก่)
3. พยาธิภัย (ภัยเกิดเพราะความเจ็บไข้)
4. มรณภัย (ภัยเกิดเพราะความตาย)
ภิกษุทั้งหลาย ภัย 4 ประการนี้แล

ปฐมภยสูตรที่ 9 จบ

10. ทุติยภยสูตร
ว่าด้วยภัยภายนอก สูตรที่ 2

[120] ภิกษุทั้งหลาย ภัย 4 ประการนี้
ภัย 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อัคคีภัย (ภัยเกิดจากไฟ) 2. อุทกภัย (ภัยเกิดจากน้ำ)
3. ราชภัย (ภัยเกิดจากพระราชา) 4. โจรภัย (ภัยเกิดจากโจร)
ภิกษุทั้งหลาย ภัย 4 ประการนี้แล

ทุติยภยสูตรที่ 10 จบ
เกสิวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. เกสิสูตร 2. ชวสูตร
3. ปโตทสูตร 4. นาคสูตร
5. ฐานสูตร 6. อัปปมาทสูตร
7. อารักขสูตร 8. สังเวชนียสูตร
9. ปฐมภยสูตร 10. ทุติยภยสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [3.ตติยปัณณาสก์]
3.ภยวรรค 1.อัตตานุวาทสูตร

3. ภยวรรค
หมวดว่าด้วยภัย
1. อัตตานุวาทสูตร
ว่าด้วยอัตตานุวาทภัย

[121] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภัย 4 ประการนี้
ภัย 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อัตตานุวาทภัย1 2. ปรานุวาทภัย2
3. ทัณฑภัย3 4. ทุคติภัย4
อัตตานุวาทภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วด้วย
กาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ ไฉนเราจะติเตียนตัวเราเองโดยศีล
ไม่ได้” เขากลัวภัยที่เกิดจากการติเตียนตนเอง จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต
ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์
นี้เรียกว่า อัตตานุวาทภัย
ปรานุวาทภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วด้วย
กาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ ไฉนคนอื่นจะติเตียนเราโดยศีล
ไม่ได้” เขากลัวภัยที่เกิดจากผู้อื่นติเตียน จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละ
วจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์
นี้เรียกว่า ปรานุวาทภัย