เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [3.ตติยปัณณาสก์] 2.เกสิวรรค 4.นาคสูตร

คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว อดทนต่อการประหารด้วย
หอก ดาบ ลูกศร ง้าว เสียงกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และมโหระทึกที่กระหึ่ม ช้าง
ของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ไปสู่ทิศที่ควาญช้างไสไป คือ ทิศที่เคยไปหรือ
ทิศที่ไม่เคยไปได้โดยเร็วพลัน ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ 4 ประการนี้แลย่อม
เป็นช้างควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่
การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้เชื่อฟัง 2. เป็นผู้ฆ่าได้
3. เป็นผู้อดทน 4. เป็นผู้ไปได้
ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยโสตลงฟังธรรม ในเมื่อผู้
อื่นแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ยินดีกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ทำ
ให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ทำ
ให้ถึงความไม่มี ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว
กระหาย ต่อการถูกเหลือบยุง แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน ต่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 21 หน้า :176 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [3.ตติยปัณณาสก์] 2.เกสิวรรค 5.ฐานสูตร

ถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ เป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิด
ขึ้นแล้วเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต
ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปตลอดกาลยาวนานนี้ คือ
ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความ
คลายกำหนัด ความดับทุกข์ นิพพาน ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

นาคสูตรที่ 4 จบ

5. ฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะแห่งความเสื่อมและความเจริญ

[115] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ1 4 ประการนี้
ฐานะ 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจและเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย
2. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
3. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย
4. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจและเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
บรรดาฐานะ 4 ประการนั้น ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจและเมื่อทำย่อมเป็น
ไปเพื่อความฉิบหาย บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ไม่ควรทำทั้ง 2 ส่วน คือ รู้ว่าไม่ควร
ทำทั้งส่วนที่เป็นฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ และรู้ว่าไม่ควรทำทั้งส่วนที่เป็นฐานะ
ที่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ไม่ควรทำทั้ง 2 ส่วน