เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์]
5.อสุรวรรค 4.ตติยสมาธิสูตร

4. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้ง
ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน แต่ไม่ได้ความ
เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญา
อันยิ่ง เรียนถามอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงมองสังขารอย่างไร พิจารณาสังขาร
อย่างไร เห็นแจ้งสังขารอย่างไร’ บุคคลผู้ถูกถามนั้น ย่อมตอบเขาตามที่เห็นตาม
ที่รู้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงมองสังขารอย่างนี้ พิจารณาสังขารอย่างนี้ เห็นแจ้งสังขาร
อย่างนี้’ สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้ง
ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บุคคลผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน เรียนถามอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
พึงตั้งจิตไว้อย่างไร น้อมจิตไปอย่างไร ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งผุดขึ้นอย่างไร
ชักจูงจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างไร’ บุคคลผู้ถูกถามนั้น ย่อมตอบเขาตามที่เห็นตามที่
รู้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้ น้อมจิตไปอย่างนี้ ทำจิตให้มีอารมณ์เป็น
หนึ่งผุดขึ้นอย่างนี้ ชักจูงจิตให้เป็นสมาธิอย่างนี้’ สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความ
เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งและได้ความสงบแห่งจิตภายใน
บุคคลผู้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายในและไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญา
อันยิ่ง พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรม
ด้วยปัญญาอันยิ่ง เรียนถามอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงตั้งจิตไว้อย่างไร น้อมจิต
ไปอย่างไร ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งผุดขึ้นอย่างไร ชักจูงจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างไร
พึงมองสังขารอย่างไร พิจารณาสังขารอย่างไร เห็นแจ้งสังขารอย่างไร’ บุคคลผู้
ถูกถามนั้น ย่อมตอบเขาตามที่เห็นตามที่รู้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้
น้อมจิตไปอย่างนี้ ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งผุดขึ้นอย่างนี้ ชักจูงจิตให้เป็นสมาธิ
อย่างนี้ พึงมองสังขารอย่างนี้ พิจารณาสังขารอย่างนี้ เห็นแจ้งสังขารอย่างนี้’
สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 21 หน้า :143 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์]
5.อสุรวรรค 5. ฉวาลาตสูตร

บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้วทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ตติยสมาธิสูตรที่ 4 จบ

5. ฉวาลาตสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า

[95] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล 4 จำพวกไหนบ้าง คือ
1. บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
2. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
3. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
4. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เราเรียกว่า
เป็นเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ไฟไหม้ทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ ย่อม
ไม่อำนวยประโยชน์เป็นเครื่องเรือน1 ทั้งไม่อำนวยประโยชน์เป็นอุปกรณ์ในป่า2
ในบุคคล 2 จำพวกแรกของบุคคล 4 จำพวกเหล่านั้นข้างต้นนี้ บุคคลผู้
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองงามกว่าและประณีตกว่า
ในบุคคล 3 จำพวกแรก บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลผู้อื่นงามกว่าและประณีตกว่า
ในบุคคล 4 จำพวก บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
ผู้อื่น เป็นเลิศ ประเสริฐที่สุด เป็นประธาน สูงสุด ยิ่งใหญ่ที่สุด