เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์]
1.ภัณฑคามวรรค 7. โสภณสูตร

7. โสภณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ทำหมู่ให้งาม

[7] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้ ผู้เฉียบแหลม
ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ย่อมทำหมู่ให้งาม
บุคคล 4 จำพวกไหนบ้าง คือ
ในธรรมวินัยนี้
1. ภิกษุผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
2. ภิกษุณี ฯลฯ
3. อุบาสก ฯลฯ
4. อุบาสิกาผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้แลผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
บุคคลผู้เฉียบแหลม แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เรียกว่าผู้ทำหมู่ให้งาม
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ภิกษุณีผู้เป็นพหูสูต
อุบาสกผู้มีศรัทธา และอุบาสิกาผู้มีศรัทธา1
ชนเหล่านี้แลย่อมทำหมู่ให้งาม
ชนเหล่านี้แลชื่อว่าสังฆโสภณ

โสภณสูตรที่ 7 จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์]
1.ภัณฑคามวรรค 8.เวสารัชชสูตร

8. เวสารัชชสูตร
ว่าด้วยญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า

[8] ภิกษุทั้งหลาย เวสารัชชญาณ (ญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า) 4 ประการนี้
ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ปฏิญญา(ยืนยัน)ฐานะที่องอาจ1 บันลือสีหนาท2 ประกาศ
พรหมจักร3ในบริษัท4
เวสารัชชญาณของตถาคต 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า “สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกจักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า ‘ท่านปฏิญญา
ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านก็ยังไม่รู้” เราเมื่อไม่
เห็นนิมิตแม้นี้จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
2. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า “สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกจักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า ‘ท่านปฏิญญา
ว่าเป็นพระขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านก็ยังไม่สิ้นไป” เราเมื่อไม่
เห็นนิมิตแม้นี้จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่