เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์]
2.ปัตตกัมมวรรค 1.ปัตตกัมมสูตร

อริยสาวกนั้นแลชื่อว่าทำกรรมอันสมควร 4 ประการด้วยโภคทรัพย์ที่หามา
ได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ
ประกอบด้วยธรรม1 ได้มาโดยธรรม2
กรรมอันสมควร 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมบำรุงตนเอง มารดา บิดา บุตร ภรรยา
ทาส กรรมกร คนรับใช้ มิตร และอำมาตย์ให้เป็นสุข บริหารให้
เป็นสุขโดยชอบด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม
ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะที่ 1 ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดย
สมควร ใช้สอยตามเหตุ
2. อริยสาวกย่อมป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟ น้ำ พระราชา โจร
คนที่ไม่ชอบกัน หรือจากทายาทด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วย
ความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อ
ต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม ทำตนให้ปลอดภัย
นี้เป็นฐานะที่ 2 ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดยสมควร ใช้สอย
ตามเหตุ
3. อริยสาวกย่อมทำพลี3 5 อย่าง คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี
ราชพลี เทวตาพลีด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วย
ธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะที่ 3 ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึง
โดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์]
2.ปัตตกัมมวรรค 1.ปัตตกัมมสูตร

4. อริยสาวกบำเพ็ญทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไป1 เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี2
มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์3 ไว้ในสมณพราหมณ์ผู้เว้นขาดจาก
ความมัวเมาและความประมาท ผู้ดำรงมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ
ฝึกอบรมตน ทำตนให้สงบ ทำตนให้ดับเย็นสนิท4ด้วยโภคทรัพย์
ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง
อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะ
ที่ 4 ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ
คหบดี อริยสาวกนั้นชื่อว่าทำกรรมอันสมควร 4 ประการนี้ด้วยโภคทรัพย์ที่
หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม โภคทรัพย์ของใครก็ตาม หมดสิ้นไปเพราะ
กรรมอื่นนอกจากกรรมอันสมควร 4 ประการนี้ โภคทรัพย์เหล่านี้ เราเรียกว่า
ถึงแล้วโดยไม่ใช่เหตุ ถึงโดยไม่สมควร ใช้สอยตามเหตุอันไม่ควร ส่วนโภคทรัพย์
ของใครก็ตาม หมดสิ้นไปเพราะกรรมอันสมควร 4 ประการนี้ โภคทรัพย์เหล่านี้
เราเรียกว่า ถึงแล้วโดยเหตุ ถึงโดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ
นรชนผู้จะต้องตายเมื่อคำนึงถึงว่า
‘โภคทรัพย์ทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว
คนที่ควรเลี้ยงเราได้เลี้ยงแล้ว
อันตรายทั้งหลายเราได้ข้ามพ้นแล้ว
ทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไปเราได้ให้แล้ว
และพลีกรรม 5 อย่างเราได้ทำแล้ว