เมนู

พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์]
2. อาปายิกวรรค 4. อาเนญชสูตร

2. บุคคลบางคนในโลกนี้ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” อยู่
เขาชอบใจฌานนั้น ติดใจฌานนั้น และถึงความปลื้มใจกับฌานนั้น
เขาดำรงอยู่ในฌานนั้น น้อมใจไปในฌานนั้น ชอบอยู่กับฌานนั้น
โดยมากไม่เสื่อม หลังจากตายแล้วเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
เทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ เทวดาพวกที่เข้าถึงชั้น
วิญญาณัญจายตนะมีอายุประมาณ 40,000 กัป คนที่เป็นปุถุชน
ดำรงอยู่ในชั้นวิญญาณัญจายตนะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็น
กำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิด
สัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค
ดำรงอยู่ในชั้นวิญญาณัญจายตนะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็น
กำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล
นี้แลเป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่าง
กันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติ
ยังมีอยู่
3. บุคคลบางคนในโลกนี้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า “ไม่มีอะไร” อยู่ เขา
ชอบใจฌานนั้น ติดใจฌานนั้น และถึงความปลื้มใจกับฌานนั้น เขา
ดำรงอยู่ในฌานนั้น น้อมใจไปในฌานนั้น ชอบอยู่กับฌานนั้นโดยมาก
ไม่เสื่อม หลังจากตายแล้วเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดาพวก
ที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ เทวดาทั้งหลายพวกที่เข้าถึงชั้น
อากิญจัญญายตนะ มีอายุประมาณ 60,000 กัป คนที่เป็นปุถุชน
ดำรงอยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็น
กำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรง
อยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนด
อายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แลเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 20 หน้า :360 }


พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์]
2. อาปายิกวรรค 5. วิปัตติสัมปทาสูตร

ความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่าง
อริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 3 จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

อาเนญชสูตรที่ 4 จบ

5. วิปัตติสัมปทาสูตร
ว่าด้วยวิบัติ และสัมปทา

[118] ภิกษุทั้งหลาย วิบัติ 3 ประการนี้
วิบัติ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. สีลวิบัติ (ความวิบัติแห่งศีล)
2. จิตตวิบัติ (ความวิบัตแห่งจิต)
3. ทิฏฐิวิบัติ (ความวิบัติแห่งทิฏฐิ)
สีลวิบัติ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สีลวิบัติ
จิตตวิบัติ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ(เห็นผิด) มีจิตพยาบาท นี้เรียกว่า
จิตตวิบัติ
ทิฏฐิวิบัติ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว
ไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี
สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอัน
ยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก” นี้เรียกว่า ทิฏฐิวิบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 20 หน้า :361 }