เมนู

พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์]
2. มหาวรรค 8. อัญญติตถิยสูตร

แต่ถ้าบัณฑิตรู้จักกาลอันเหมาะสมแล้ว
ประสงค์จะพูด ควรมีความรู้ ไม่โกรธ ไม่ฟุ้งซ่าน
ไม่โอ้อวด ไม่ใจเบาหุนหันพลันแล่น ไม่คอยจับผิด
พูดแต่เรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรม
เป็นเรื่องที่พระอริยะประพฤติกันมา
เพราะรู้ทั่วถึงโดยชอบ เขาไม่พูดริษยา
บุคคลควรชื่นชมถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต
ไม่ควรเลื่อมใสถ้อยคำที่เป็นทุพภาษิต
ไม่ควรใส่ใจถึงความแข่งดี
และไม่ควรคอยจับผิด ไม่ควรพูดทับถม
ไม่ควรพูดย่ำยี ไม่ควรพูดเหลาะแหละ
เพื่อความรู้ เพื่อความเลื่อมใส
สัตบุรุษทั้งหลายจึงมีการปรึกษากัน
พระอริยะทั้งหลายย่อมปรึกษากันเช่นนั้นแล
นี้เป็นการปรึกษากันของพระอริยะทั้งหลาย
บุคคลผู้มีปัญญารู้เรื่องนี้แล้ว
ไม่ควรถือตัว ควรปรึกษากัน

กถาวัตถุสูตรที่ 7 จบ

8. อัญญติตถิยสูตร
ว่าด้วยพวกอัญเดียรถีย์

[69] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
พึงถามอย่างนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย ธรรม 3 ประการนี้ คือ (1) ราคะ(ความกำหนัด) (2) โทสะ
(ความคิดประทุษร้าย) (3) โมหะ(ความหลง) ท่านทั้งหลาย ธรรม 3 ประการนี้
แล ธรรม 3 ประการนี้มีความแปลกกันอย่างไร มีคำอธิบายอย่างไร มีความต่างกัน
อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 20 หน้า :272 }


พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์]
2. มหาวรรค 8. อัญญติตถิยสูตร

เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบพวกเขาอย่างไร
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทรง
อธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจากพระผู้มีพระ
ภาคแล้วจักทรงจำไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า
ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ธรรม 3 ประการ
นี้ คือ (1) ราคะ (2) โทสะ (3) โมหะ ท่านทั้งหลาย ธรรม 3 ประการนี้แล ธรรม
3 ประการนี้มีความแปลกกันอย่างไร มีคำอธิบายอย่างไร มีความต่างกันอย่างไร
เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้พึงตอบพวกเขาอย่างนี้ว่า ราคะมีโทษน้อยแต่
คลายช้า โทสะมีโทษมากแต่คลายเร็ว โมหะมีโทษมากและคลายช้า
ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างนี้ว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ราคะ
ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
เธอทั้งหลายพึงตอบว่า “สุภนิมิต” เมื่อมนสิการสุภนิมิตโดยไม่แยบคาย
ราคะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ราคะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อ
ความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างนี้ว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โทสะ
ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
เธอทั้งหลายพึงตอบว่า “ปฏิฆนิมิต” เมื่อมนสิการปฏิฆนิมิตโดยไม่แยบคาย
โทสะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โทสะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อ
ความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 20 หน้า :273 }