เมนู

พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์]
2. มหาวรรค 5. เกสปุตติสูตร

กาลามะทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้
มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ อริยสาวกนั้นชื่อว่าบรรลุความเบาใจ
4 ประการนี้ในปัจจุบัน
พวกกาลามะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนั้นเป็นอย่างนี้ ข้าแต่
พระสุคต เรื่องนั้นเป็นอย่างนี้ พระอริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาท
อย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ พระอริยสาวกนั้นบรรลุ
ความเบาใจ 4 ประการในปัจจุบัน คือ
1. ถ้าโลกหน้ามี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี เป็นไปได้ที่เรื่อง
นั้นจะเป็นเหตุให้เราหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ นี้คือ
ความเบาใจประการที่ 1 ที่พระอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
2. ถ้าโลกหน้าไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี เราก็รักษาตน
ไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความเบียดเบียน ไม่ให้มีทุกข์ ให้มีสุขในปัจจุบันใน
โลกนี้ได้ นี้คือความเบาใจประการที่ 2 ที่พระอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
3. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าทำบาป เราไม่เจาะจงบาปไว้เพื่อใคร ๆ
เลย เมื่อเราไม่ทำบาปเลย ความทุกข์จะถูกต้องเราได้อย่างไร นี้คือ
ความเบาใจประการที่ 3 ที่พระอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
4. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าไม่ทำบาป เราก็พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์
ทั้ง 2 ส่วนในโลกนี้ นี้คือความเบาใจประการที่ 4 ที่พระอริยสาวก
นั้นบรรลุแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาท
อย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ พระอริยสาวกนั้นชื่อว่าบรรลุ
ความเบาใจ 4 ประการนี้ในปัจจุบัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ
ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็น
สรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต


พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์]
2. มหาวรรค 6. สาฬหสูตร

6. สาฬหสูตร
ว่าด้วยนายสาฬหะถามถึงหลักความเชื่อ

[67] สมัยหนึ่ง ท่านพระนันทกะอยู่ที่ปราสาทของวิสาขามิคารมาตา ใน
บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น นายสาฬหะผู้เป็นหลานชายของมิคารเศรษฐี
และนายโรหนะผู้เป็นหลานชายของเปขุณิยเศรษฐี เข้าไปหาท่านพระนันทกะถึง
ที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระนันทกะได้กล่าวกับสาฬหมิคารนัดดาดังนี้ว่า
มาเถิด สาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลาย
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
สาฬหะและโรหนะ เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า “ธรรม
เหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่
บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์” เมื่อนั้น ท่าน
ทั้งหลายควรละ(ธรรมเหล่านั้น)เสีย
สาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ โลภะมีอยู่หรือ
“มี ท่านผู้เจริญ”
“สาฬหะและโรหนะ เราจะอธิบายคำว่า “อภิชฌา” บุคคลผู้เพ่งเล็งอยากได้
ของเขานี้ เป็นผู้โลภ ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูด
เท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์บ้างหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 20 หน้า :264 }