เมนู

พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์]
1. พราหมณวรรค 10. สังคารวสูตร

10. สังคารวสูตร
ว่าด้วยสังคารวพราหมณ์

[61] ครั้งนั้น สังคารวพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าทั้งหลายชื่อว่าเป็นพราหมณ์ บูชายัญเองบ้าง
ให้ผู้อื่นบูชาบ้าง ในหมู่พราหมณ์นั้น ผู้ใดบูชายัญเอง และผู้ใดให้ผู้อื่นบูชายัญ คน
เหล่านั้นทั้งหมดชื่อว่าปฏิบัติปุญญปฏิปทาที่เกิดแก่หลายสรีระคือยัญญาธิกรณ์1(มี
ยัญเป็นเหตุ) ส่วนบุคคลใดออกจากเรือนแห่งตระกูลใดก็ตาม บวชเป็นบรรพชิต ฝึก
ตนเอง ทำตนเองให้สงบ ทำตนเองให้ดับเย็นสนิท เมื่อเป็นอย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า
ปฏิบัติปุญญปฏิปทาที่เกิดแก่สรีระเดียวคือปัพพัชชาธิกรณ์(มีบรรพชาเป็นเหตุ)”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้
ท่านพึงเฉลยปัญหานั้นตามที่ท่านเห็นควร ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ตถาคตเสด็จ
อุบัติในโลกนี้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม
ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
ตถาคตพระองค์นั้นตรัสไว้อย่างนี้ว่า ‘ในข้อนี้เราปฏิบัติตามมรรคนี้ปฏิปทานี้ ทำให้
แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยมซึ่งเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม มาเถิด แม้ท่านทั้งหลายก็จงปฏิบัติตามที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติ
แล้ว จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยมซึ่งเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ พระศาสดาพระองค์นี้ทรงแสดงธรรมไว้ และคนเหล่าอื่นต่างก็
ปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ก็ผู้แสดงและผู้ปฏิบัตินั้นมีมากกว่าร้อย มีมากกว่า
พัน มีมากกว่าแสน ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้ ปุญญปฏิปทาคือ
ปัพพัชชาธิกรณ์ย่อมเกิดแก่สรีระเดียวหรือเกิดแก่หลายสรีระ”