เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
6. อภิสมยวรรค 2. โปกขรณีสูตร

6. อภิสมยวรรค
หมวดว่าด้วยการรู้ยิ่ง
1. นขสิขสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยฝุ่นที่ปลายเล็บ

[1121] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ปลายพระนขาช้อนฝุ่นขึ้นมาเล็กน้อย
แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร ฝุ่นเล็กน้อยนี้ที่เราใช้ปลายเล็บช้อนขึ้นมา กับแผ่นดินใหญ่นี้
อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า
ฝุ่นที่พระองค์ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย ฝุ่นเล็กน้อยที่พระองค์
ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมา เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว คำนวณไม่ได้
เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้เป็นอริยสาวกใดรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ ทุกข์ที่หมดสิ้นไปของ
บุคคลผู้เป็นอริยสาวกนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ผู้รู้ยิ่ง มีมากกว่า ที่เหลืออยู่ มี
ประมาณน้อย เมื่อเทียบกับกองทุกข์ซึ่งมีอยู่ก่อนที่หมดสิ้นไปแล้ว คำนวณไม่ได้
เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว อย่างมากมีได้เพียง 7 ชาติ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

นขสิขสูตรที่ 1 จบ

2. โปกขรณีสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยน้ำในสระโบกขรณี

[1122] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสระโบกขรณียาว 50 โยชน์ กว้าง
50 โยชน์ สูง 50 โยชน์ เต็มด้วยน้ำเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ บุรุษใช้ปลายหญ้าคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :634 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
6. อภิสมยวรรค 3. ปฐมสัมเภชชสูตร

จุ่มน้ำขึ้นจากสระโบกขรณีนั้น เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร น้ำที่
บุรุษใช้ปลายหญ้าคาจุ่มขึ้นมากับน้ำในสระโบกขรณี อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในสระโบกขรณีนี้แลมากกว่า น้ำที่บุรุษใช้ปลาย
หญ้าคาจุ่มขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย น้ำที่บุรุษใช้ปลายหญ้าคาจุ่มขึ้นมา เมื่อเทียบกับ
น้ำในสระโบกขรณีแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้งหลายพึง
ทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

โปกขรณีสูตรที่ 2 จบ

3. ปฐมสัมเภชชสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยน้ำที่ไหลมาบรรจบกัน สูตรที่ 1

[1123] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่เหล่านี้ คือ แม่น้ำคงคา
แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี ไหลมาบรรจบกัน ณ ที่ใด บุรุษ
ช้อนน้ำ 2-3 หยดขึ้นมาจากที่นั้น เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
น้ำ 2-3 หยดที่บุรุษนั้นช้อนขึ้นมากับน้ำที่ไหลมาบรรจบกัน อย่างไหนจะมาก
กว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำที่ไหลมาบรรจบกันนี้แลมากกว่า น้ำ 2-3 หยด
ที่บุรุษนั้นช้อนขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย น้ำ 2-3 หยดที่บุรุษนั้นช้อนขึ้นมา เมื่อ
เทียบกับน้ำที่ไหลมาประจบกันแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึง
ส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้งหลายพึง
ทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมสัมเภชชสูตรที่ 3 จบ