เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
5. ปปาตวรรค 5. วาลสูตร

5. วาลสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยปลายขนทราย

[1115] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ได้เห็นลิจฉวีกุมารจำนวนมากฝึกยิงลูกศรอยู่ใน
สัณฐาคารให้เข้าทางช่องดาลเล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด จึงคิดดังนี้
ว่า “ลิจฉวีกุมารเหล่านี้ฝึกแล้วหนอ ฝึกดีแล้วหนอ ที่ยิงลูกศรให้เข้าทางช่องดาล
เล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด”
ท่านพระอานนท์ ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงเวสาลีแล้ว กลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
ประทานวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ได้เห็นลิจฉวีกุมารจำนวนมากฝึกยิงลูกศรอยู่ในสัณฐาคาร
ให้เข้าทางช่องดาลเล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด จึงคิดดังนี้
ว่า ‘ลิจฉวีกุมารเหล่านี้ฝึกแล้วหนอ ฝึกดีแล้วหนอ ที่ยิงลูกศรให้เข้าทางช่องดาล
เล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
ผู้ที่ยิงลูกศรให้เข้าทางช่องดาลเล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด หรือผู้ที่
ใช้ปลายขนทรายซึ่งแบ่งเป็น 7 เสี่ยง แทงเข้าที่ปลายขนทราย อย่างไหนทำได้ยาก
กว่าหรือเกิดได้ยากกว่ากัน”
“ผู้ที่ใช้ปลายขนทรายซึ่งแบ่งเป็น 7 เสี่ยง แทงเข้าที่ปลายขนทรายนี้แล ทำ
ได้ยากกว่า และเกิดได้ยากกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ที่แท้เหล่าชนผู้แทงตลอดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ ชื่อว่าแทงตลอดสิ่งที่แทงตลอดได้ยากกว่า
อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

วาลสูตรที่ 5 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
5. ปปาตวรรค 6. อันธการสูตร

6. อันธการสูตร
ว่าด้วยความมืดคือสังสารวัฏ

[1116] “ภิกษุทั้งหลาย โลกันตนรกมีแต่ความทุกข์มืดมนอนธการ มัวเป็น
หมอก สัตว์ในนรกนั้นไม่ได้รับประโยชน์จากแสงสว่างของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความมืดนั้นมากหนอ ความมืดนั้นมากจริงหนอ ความมืดอื่น
ที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้มีอยู่หรือ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุ ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้มีอยู่”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้
เป็นอย่างไร”
“ภิกษุ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้
ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติ ฯลฯ
ผู้ยินดียิ่งแล้ว ฯลฯ ย่อมปรุงแต่ง ฯลฯ ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมตกไปสู่ความมืด
คือชาติบ้าง ตกไปสู่ความมืดคือชราบ้าง ตกไปสู่ความมืดคือมรณะบ้าง ตกไปสู่
ความมืดคือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสบ้าง เรากล่าวว่า ‘สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส และชื่อว่าไม่พ้นจากทุกข์’
ภิกษุ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่
ยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติ ฯลฯ ผู้ไม่ยินดียิ่งแล้ว ฯลฯ ย่อมไม่
ปรุงแต่ง ฯลฯ ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่ตกไปสู่ความมืดคือชาติบ้าง ไม่ตกไป
สู่ความมืดคือชราบ้าง ไม่ตกไปสู่ความมืดคือมรณะบ้าง ไม่ตกไปสู่ความมืดคือโสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสบ้าง เรากล่าวว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
และชื่อว่าพ้นจากทุกข์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :629 }