เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
4. สีสปาวนวรรค 6. ปาณสูตร

5. สัตติสตสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยผู้ถูกหอก 100 เล่มทิ่มแทง

[1105] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนใคร ๆ พึงกล่าวกับบุรุษผู้มีอายุ 100
ปี มีชีวิตอยู่ 100 ปีว่า ‘มาเถิด พ่อมหาจำเริญ ชนทั้งหลายจักใช้หอก 100 เล่ม
ทิ่มแทงท่านในเวลาเช้า ใช้หอก 100 เล่มทิ่มแทงในเวลาเที่ยง ใช้หอก 100
เล่มทิ่มแทงในเวลาเย็น ท่านนั้นถูกหอกทิ่มแทงวันละ 300 เล่ม มีอายุ 100 ปี
มีชีวิตอยู่ 100 ปี เมื่อล่วงไป 100 ปี ก็จักรู้แจ้งอริยสัจ 4 ประการที่ยังไม่ได้รู้แจ้ง
กุลบุตรผู้เห็นประโยชน์ควรยอมรับข้อเสนอนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะสงสารนี้มีเบื้องต้นกับเบื้องปลายกำหนดรู้ไม่ได้ เบื้องต้นและที่สุดแห่ง
การประหารด้วยหอก การประหารด้วยดาบ การประหารด้วยหลาว และการ
ประหารด้วยขวานย่อมไม่ปรากฏ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่
กล่าวว่าการรู้แจ้งอริยสัจ 4 ประการ มีได้พร้อมกับทุกข์และโทมนัส แต่เรากล่าวว่า
การรู้แจ้งอริยสัจ 4 ประการมีได้พร้อมกับสุขและโสมนัสเท่านั้น
อริยสัจ 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ 4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

สัตติสตสูตรที่ 5 จบ

6. ปาณสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยหลาวเสียบสัตว์

[1106] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงตัดหญ้า ท่อนไม้ กิ่งไม้ และ
ใบไม้ในชมพูทวีปนี้มารวมกันเป็นกองเดียวกัน ครั้นรวมเป็นกองเดียวกันแล้ว พึงทำ
ให้เป็นหลาว ครั้นทำให้เป็นหลาวแล้ว พึงเสียบสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในมหาสมุทร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :616 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
4. สีสปาวนวรรค 7. ปฐมสุริยสูตร

เข้าที่หลาวขนาดใหญ่ เสียบสัตว์ขนาดกลางที่มีอยู่ในมหาสมุทรเข้าที่หลาวขนาด
กลาง เสียบสัตว์ขนาดเล็กที่มีอยู่ในมหาสมุทรเข้าที่หลาวขนาดเล็ก สัตว์ขนาดเขื่อง
ในมหาสมุทรยังไม่ทันหมด หญ้า ท่อนไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ในชมพูทวีปนี้พึงหมด
สิ้นไปเสียก่อน
ภิกษุทั้งหลาย การที่จะเสียบสัตว์ขนาดเล็กในมหาสมุทรซึ่งมีมากกว่าสัตว์
ขนาดเขื่องนั้นเข้าที่หลาว มิใช่ทำได้ง่าย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตัวมันมีขนาดเล็ก อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น อบายก็ใหญ่นัก
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ หลุดพ้นจากอบายที่ใหญ่อย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปาณสูตรที่ 6 จบ

7. ปฐมสุริยสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยดวงอาทิตย์ สูตรที่ 1

[1107] “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมา
ก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด สัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้นเหมือน เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต
เพื่อความตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการ ภิกษุผู้มีสัมมาทิฏฐิพึงหวังได้ว่าจักรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมสุริยสูตรที่ 7 จบ