เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
4. สีสปาวนวรรค 1. สีสปาวนสูตร

4. สีสปาวนวรรค
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่สีสปาวัน
1. สีสปาวนสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่สีสปาวัน

[1101] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงหยิบใบประดู่ลาย 2-3 ใบขึ้นมา แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ใบประดู่ลาย
2-3 ใบที่เราหยิบขึ้นมากับใบที่อยู่บนต้น อย่างไหนจะมากกว่ากัน” ลำดับนั้น
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ใบที่อยู่บนต้นไม้นั้นแลมากกว่า ใบประดู่ลาย 2-3
ใบที่พระองค์ทรงหยิบขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วแต่มิได้บอกเธอทั้งหลายก็มีมากเหมือนกัน
เพราะเหตุไร เราจึงมิได้บอก
เพราะสิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ
ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น เรา
จึงมิได้บอก
สิ่งอะไรเล่าที่เราบอกแล้ว
คือ เราได้บอกว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’
เพราะเหตุไร เราจึงบอก
เพราะสิ่งนี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพิ่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
เพราะเหตุนั้น เราจึงบอก
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

สีสปาวนสูตรที่ 1 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
4. สีสปาวนวรรค 3. ทัณฑสูตร

2. ขทิรปัตตสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยใบตะเคียน

[1102] “ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรา
ยังไม่รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริง แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’
เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เราจักใช้ใบตะเคียน ใบทองหลาง หรือ
ใบมะขามป้อมห่อน้ำหรือห่อใบตาลนำไป’ แม้ฉันใด เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะพึง
กล่าวว่า ‘เราไม่ได้รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความ
เป็นจริง แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แต่เป็นไปได้ที่บุคคลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราได้รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ทุกข-
สมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริง
แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’
เป็นไปได้ที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เราจักใช้ใบบัว ใบทองกวาว หรือใบย่านทราย
ห่อน้ำหรือห่อใบตาลนำไป’ แม้ฉันใด เป็นไปได้ที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เราได้รู้แจ้ง
ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริง แล้วจักทำ
ที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ขทิรปัตตสูตรที่ 2 จบ

3. ทัณฑสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยท่อนไม้

[1103] “ภิกษุทั้งหลาย ท่อนไม้ที่ขว้างไปบนอากาศ บางคราวเอาโคนลงมา
บางคราวเอาตรงกลางลงมา บางคราวเอาปลายลงมา แม้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้มี
อวิชชาปิดกั้น มีตัณหาโยงใยจึงแล่นไป ท่องเที่ยวไป บางคราวจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น
บางคราวจากโลกอื่นมาสู่โลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :614 }