เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
2. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค 7. อวิชชาสูตร

“ดีละ ดีละ ภิกษุ ดีแท้ ภิกษุ เธอทรงจำอริยสัจ 4 ประการที่เราแสดงไว้แล้ว
เราแสดงทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ 1 เธอก็จงทรงจำไว้อย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงกล่าวว่า ‘นี้ไม่ใช่ทุกขอริยสัจข้อที่ 1 ที่พระสมณโคดม
ทรงแสดงไว้แล้ว เราจักบอกคืนทุกขอริยสัจข้อที่ 1 นั้นแล้วบัญญัติทุกขอริยสัจ
ข้อที่ 1 เป็นอย่างอื่น’ เราแสดงทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ
เราแสดงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นข้อที่ 4 เธอก็จงทรงจำไว้อย่างนั้น เป็น
ไปไม่ได้เลยที่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงกล่าวว่า ‘นี้ไม่ใช่ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทาอริยสัจข้อที่ 4 ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกคืนทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทาอริยสัจ 4 นั้นแล้วบัญญัติทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ 4
เป็นอย่างอื่น’ เธอจงทรงจำอริยสัจ 4 ประการที่เราแสดงไว้แล้ว อย่างนี้แล
ภิกษุ เพราะเหตุนั้น เธอพึงทำความเพียรเพื่อทรงจำว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุติยธารณสูตรที่ 6 จบ

7. อวิชชาสูตร
ว่าด้วยอวิชชา

[1087] ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’ อวิชชาเป็นอย่างไร
และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่า ‘ตกอยู่ในอวิชชา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย
ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า ‘อวิชชา’
และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึงชื่อว่า ‘ตกอยู่ในอวิชชา’
ภิกษุ เพราะเหตุนั้น เธอพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์
ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

อวิชชาสูตรที่ 7 จบ