เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
6. สัปปัญญวรรค 3. ธัมมทินนสูตร

“มหาบพิตร อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับเรื่องนี้มาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มี
พระภาคว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน มีจำนวนน้อย ที่แท้
ภิกษุผู้เป็นโอปปาติกะจักนิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก เพราะ
โอรัมภาคิยสังโยชน์(สังโยชน์เบื้องต่ำ) 5 ประการสิ้นไป มีจำนวนมากกว่า’
อีกเรื่องหนึ่ง ที่อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโอปปาติกะเพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการสิ้นไป
จักนิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก มีจำนวนน้อย ที่แท้ภิกษุผู้เป็น
สกทาคามีเพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป และเพราะบรรเทาราคะ โทสะ และ
โมหะให้เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ มีจำนวน
มากกว่า’
อีกเรื่องหนึ่ง อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นสกทาคามีเพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป และเพราะ
บรรเทาราคะ โทสะ และโมหะให้เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จักทำ
ที่สุดแห่งทุกข์ได้ มีจำนวนน้อยกว่า ที่แท้ภิกษุผู้เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มี
ความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า เพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป
มีจำนวนมากกว่า”

วัสสังวุตถสูตรที่ 2 จบ

3. ธัมมทินนสูตร
ว่าด้วยธัมมทินนอุบาสก

[1049] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ธัมมทินนอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก 500 คน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอพระผู้มีพระภาคโปรดโอวาท โปรดพร่ำสอน
สิ่งนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :572 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
6. สัปปัญญวรรค 3. ธัมมทินนสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ธัมมทินนะ เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียก
อย่างนี้ว่า ‘พระสูตรเหล่าใดที่พระตถาคตตรัสแล้ว ลึกซึ้ง มีเนื้อความลุ่มลึก เป็น
โลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง เราจักเข้าถึงพระสูตรเหล่านั้นตลอดกาลอยู่’
ธัมมทินนะ ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่ข้าพระองค์ทั้งหลายยังอยู่ครองเรือน นอนเบียด
เสียดบุตร ใช้สอยผงแก่นจันทน์จากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และ
เครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงิน จะเข้าถึงพระสูตรที่พระตถาคตตรัสแล้ว ลึกซึ้ง มี
เนื้อความลุ่มลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง ตลอดกาลอยู่นั้น มิใช่ทำ
ได้ง่าย ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมอันยิ่งแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ใน
สิกขาบททั้ง 5 เถิด”
“ธัมมทินนะ เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย
1. จักประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
2. จักประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
3. จักประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
4. จักประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ’
ธัมมทินนะ ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ องค์เครื่องบรรลุโสดา 4 ประการใดที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงแล้ว ธรรม(คือองค์เครื่องบรรลุโสดา)เหล่านั้นมีอยู่ในข้าพระองค์ทั้งหลาย
และข้าพระองค์ทั้งหลาย เห็นชัดธรรมเหล่านั้น เพราะข้าพระองค์ทั้งหลาย
1. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
2. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :573 }