เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
4. ปุญญาภิสันทวรรค 7. มหานามสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยศีล”
“มหาบพิตร อุบาสกเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์
เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ และเว้นขาดจากการ
เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยศรัทธา”
“มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของ
ตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้ อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยจาคะ”
“มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้
ทานและการแจกทาน อยู่ครองเรือน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยจาคะ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยปัญญา”
“มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึง
ความสิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา”

มหานามสูตรที่ 7 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
4. ปุญญาภิสันทวรรค 9. กาฬิโคธสูตร

8. วัสสสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยฝนตก

[1034] “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกบนยอดภูเขา น้ำนั้นไหลไป
ตามที่ลุ่ม ทำซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มแล้ว
ทำหนองให้เต็ม หนองเต็มแล้ว ทำบึงให้เต็ม บึงเต็มแล้ว ทำแม่น้ำน้อยให้เต็ม
แม่น้ำน้อยเต็มแล้ว ทำแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้ว ก็ทำมหาสมุทรให้เต็ม
แม้ฉันใด ธรรมเหล่านี้ของอริยสาวก คือ ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า
ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์
และศีลที่พระอริยะชอบใจ ไหลไปถึงฝั่งแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน”

วัสสสูตรที่ 8 จบ

9. กาฬิโคธสูตร
ว่าด้วยพระนางสากิยานีพระนามว่ากาฬิโคธา

[1035] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก
ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพระนางสากิยานีพระนามว่ากาฬิโคธา
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว พระนางกาฬิโคธาสากิยานีเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสกับพระนางกาฬิโคธาสากิยานีดังนี้ว่า
“โคธา อริยสาวิกาผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ เป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวิกาในธรรมวินัยนี้
1. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :555 }