เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
4. ปุญญาภิสันทวรรค 7. มหานามสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยศีล”
“มหาบพิตร อุบาสกเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์
เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ และเว้นขาดจากการ
เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยศรัทธา”
“มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของ
ตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้ อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยจาคะ”
“มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้
ทานและการแจกทาน อยู่ครองเรือน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยจาคะ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยปัญญา”
“มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึง
ความสิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา”

มหานามสูตรที่ 7 จบ